นายภคพงศ์ ศิริกันทมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ผลการประมูลโครงการสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปรากฎว่า บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เสนอผลประโยชน์สุทธิดีกว่ากลุ่ม บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เพราะเสนอตัวเลข ติดลบ 78,287.95 ล้านบาท ทำให้รัฐจ่ายค่างานโยธาต่ำกว่าราคากลางที่ 96,000 ล้านบาท และให้เงินตอบแทนสูงกว่า ดังนั้น BEM เป็นผู้ชนะในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ทั้งนี้ จากนี้จะมีการยืนยันตัวเลขที่นำเสนอมากับ BEM อีกครั้งรวมทั้งให้ BEM สามารถเสนอข้อเสนออื่นนอกเหนือจากที่มีในข้อเสนอซองผลตอบแทน
ขั้นตอนหลังจากนี้ จะนำผลการประมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. จากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเข้า ครม.ได้ในปลายปีนี้ และจะสามารถเซ็นสัญญากับ BEM ได้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน
รฟม. แถลงว่า รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และเอกชนผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 คือ BEM และ ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation บริษัทเดินรถจากเกาหลีใต้ พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุน ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 24 ส.ค.65 โดยได้ตรวจสอบ และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 7 ก.ย.65 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2
ในวันเดียวกัน รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 เป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและร่วมเป็นสักขีพยาน ผลเบื้องต้น ดังนี้
– BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท
– ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลประโยชน์สุทธิ คือ เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม.
จากนั้น รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป
อนึ่ง รฟม.ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.65 และได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.-10 มิ.ย.65 โดยเอกชนสนใจเข้าซื้อเอกสาร RFP ทั้งสิ้น 14 ราย
และต่อมา บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือน พ.ค.65 และเอกสาร RFP รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค.65 ยกคำร้องคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอแล้ว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 65)
Tags: BEM, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, รถไฟฟ้าสายสีส้ม, รฟม., อิตัลไทย