ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ส.ค.65 พบว่า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 48% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยเพิ่มขึ้น หลังจากมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันตั้งแต่เดือนก.ค. พร้อมคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักเดือน ก.ย.65 โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40%
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงแรม มีการจ้างงานเฉลี่ย 75% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราการเข้าพัก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยปรับดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นการจ้างพนักงานใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในช่วง High season ปลายปี
โดยผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ 60% ยังคงกังวลสูงต่อกำลังซื้อที่อาจจะลดลงจากเงินเฟ้อ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจจะมาน้อยกว่าคาด ขณะที่ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังค่อนข้างต่ำ
ด้านรายได้ของโรงแรมบางส่วนเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ในภาพรวมพบว่ายังอยู่ในระดับต่ำ โดยโรงแรมที่รายได้กลับมาเกิน 50% มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มโรงแรมมากกว่า 4 ดาวเป็นหลัก ขณะที่จำนวนคืนที่เข้าพักในโรงแรมของนักท่องเที่ยว พบว่า ลูกค้าชาวไทย พักเฉลี่ย 1.7 คืนต่อโรงแรม ส่วนลูกค้าต่างชาติ พักเฉลี่ย 3.3 คืนต่อโรงแรม โดยลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอเชีย และตะวันออกกลาง
สำหรับมาตรการที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ มีดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การพักชำระหนี้ การขยายวงเงินสินเชื้อฟื้นฟู
2. มาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุน เช่น ลดค่าไฟฟ้า ประปา และภาษี
3. เร่งปรับปรุงทัศนียภาพ และจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อการกระจายรายได้
อนึ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการด้านโรงแรม ที่พัก จำนวน 106 แห่ง โดยสมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับธปท.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 65)
Tags: การท่องเที่ยว, ดัชนีเชื่อมั่นที่พักแรม, ธนาคารแห่งประเทศไทย, นักท่องเที่ยว