นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาในงาน “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ก้าวสู่ Next Chapter” โดยกล่าวว่า เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีที่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต้องประสบวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งโรคระบาด และความขัดแย้งของประเทศขั้วอำนาจ ส่งผลกระทบทั้งในเรื่องของพลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ รวมทั้งรายได้หลักของไทย เช่น การท่องเที่ยวที่หดหายไป
อย่างไรก็ดี วันนี้ประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นอีกครั้ง จากการเปิดประเทศ และวัคซีนโควิดมีเพียงพอ ส่งผลให้เศรษฐกิจค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากในช่วงโควิดที่มีนักท่องเที่ยว 0 คน ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวถึง 6-8 ล้านคน
ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยยังคงมีความเข้มแข็งของรัฐบาล ภาคเอกชน และมีสภาพคล่องทางการเงินในการรองรับวิกฤติ ส่วนเรื่องราคาพลังงานของไทย เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ อันดับที่ 7-8 ซึ่งประเทศไทยจะค่อยๆ ประคับประคองและปรับตัวต่อไป
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสในหลายด้าน เช่น ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวจุดยืนว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ผลที่ตามมาคือหลายฝ่ายตื่นตัว และเริ่มปรับเปลี่ยน เพื่อให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ ทั้งการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยประหยัดพลังงาน
ทั้งนี้ ในช่วงที่หลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติอาหารโลก แต่ประเทศไทยกลับได้รับอานิสงส์ เนื่องจากมีทรัพยากรอาหารจำนวนมาก จึงได้รับความสนใจจากประเทศที่ขาดแคลนอาหาร เช่น ประเทศในตะวันออกกลางที่มีแต่ทรัพยากรน้ำมัน ขณะเดียวกัน ไทยยังได้ประโยชน์จากความขัดแย้งทั่วโลกที่กระทบต่อการค้า โดยเริ่มเห็นหลายประเทศสนใจย้ายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาในไทยมากขึ้น
“รัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่ เฉพาะโครงการใหญ่ๆ ถ้าทำสำเร็จทั้งหมด น่าจะมีการลงทุนราว 2 ล้านล้านบาท เพิ่ม GDP ได้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงการใหญ่จะสร้างระบบนิเวศ สร้าง Multiple รวมถึง SME ต่างๆ ด้วย”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 65)
Tags: สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, เศรษฐกิจไทย