ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุม รมต.เอเปคด้านสตรี ส่งเสริมพลังสตรีขับเคลื่อนศก.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจประจำปี พ.ศ.2565 (Ministerial APEC Women and Economy Forum (WEF) Statement 2022) และร่างแถลงการณ์ประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี พ.ศ. 2565 (WEF Chair’s Statement 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในรูปแบบ Hybrid วันที่ 7 กันยายน 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

โดยร่างแถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับนี้ มีสาระสำคัญในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ

1.ผลักดันความเสมอภาคระหว่างเพศ การเสริมพลังสตรี และระบบเศรษฐกิจที่มีความครอบคลุม ยั่งยืน

2.ผลักดันการฟื้นฟูอย่างครอบคลุมสมดุล และเท่าเทียมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

3.เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการเร่งดำเนินการตามแผนลาเซเรนาเพื่อสตรี และการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม

4.ให้ความสำคัญกับปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมของสตรีในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

5.มุ่งมั่นในการป้องกันและขจัดความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ

6.เสริมพลังทางเศรษฐกิจของสตรีผ่านระบบเศรษฐกิจ BCG

7.ให้ความสำคัญกับมาตรการ ในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น

พร้อมกันนี้ ครม.เห็นชอบรับรองเอกสารชุดเครื่องมือการกำหนดนโยบาย และแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสตรีวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ในระดับชาติ ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารดังกล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ระหว่างวันที่ 5-11 กันยายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต เอกสารชุดเครื่องมือนี้ ประกอบด้วยชุดเครื่องมือการประเมินตนเอง (Self-assessment Tool) เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้ประเมินก่อนการดำเนินงานว่าปัจจัยด้านความเท่าเทียมทางเพศได้ถูกรวบรวมไว้ในนโยบายหลักของการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ MSME หรือไม่ เพื่อนำไปใช้กำหนดนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยมีเนื้อหารวม 5 บท ได้แก่

บทที่ 1 เกี่ยวกับกรอบดำเนินงานของชุดเครื่องมือกำหนดนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มพลังทางเศรษฐกิจของสตรี

บทที่ 2 กล่าวถึงการวางบริบทผู้ประกอบการสตรีในภูมิภาคอาเซียน โดยเน้นจุดยืนของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Member States – AMS) เป็นพิเศษ ซึ่งครอบคลุมมิติทางกฎหมาย เศรษฐกิจ และความท้าทายที่สตรีต้องเผชิญ

บทที่ 3 กล่าวถึงภาพรวมโดยสังเขป เกี่ยวกับนโยบายและโครงสร้าง MSME ในแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเชียน ซึ่งวิเคราะห์นโยบายและกฎหมาย ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้ประกอบการสตรี และความท้าทายที่ผู้ประกอบการสตรีต้องเผชิญ

บทที่ 4 นำเสนอองค์ประกอบที่สำคัญของนโยบายที่ริเริ่มการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสตรี เป็นการยกตัวอย่างและกรณีศึกษาที่สะท้อนประสบการณ์ด้านนโยบายระดับโลกและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการของสตรี

บทที่ 5 นำเสนอกรอบการประเมินตนเอง และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อ ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ MSME เข้าใจระบบนิเวศของผู้ประกอบการสตรีในประเทศของตนเองได้ดีขึ้น โดยมีการจัดทำบัตรคะแนน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นฐาน และมีกลไกในการติดตามความคืบหน้าในอนาคต

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนี้ เป็นการยืนยันว่าประเทศสมาชิกเอเปค ตั้งเป้าส่งเสริมสตรีให้มีบทบาททางเศรษกิจฐมากขึ้น โดยร่วมกันกำหนดแนวทางที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top