7 เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม

“กองทุนรวม” นับเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจมากทางหนึ่งในปัจจุบัน และมักถูกหยิบยกขึ้นมาแนะนำให้ผู้ลงทุนหน้าใหม่ได้เริ่มต้นลองสนามการลงทุนก่อนเป็นลำดับแรก ๆ เพราะกองทุนรวมนั้นมีข้อดีอยู่หลายประการ นอกจากมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารและดูแลผลการดำเนินงานให้แล้ว ยังมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายครอบคลุมทุกสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ และยังมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือสำนักงาน ก.ล.ต. คอยช่วยกำกับดูแลให้ผู้บริหารกองทุนรวมดำเนินการอยู่ในกรอบที่ถูกต้อง และช่วยปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ผู้ลงทุนอีกด้วย

และหนึ่งในข่าวดีประจำปี 2565 นี้ สำหรับผู้ลงทุนในกองทุนรวมก็คือทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกแนวทางให้บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ต้องดำเนินการและจัดเตรียมให้มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม หรือ Liquidity Management Tools (LMTs) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วย บลจ. โดยเฉพาะในช่วงที่กองทุนรวมต้องประสบปัญหาปริมาณธุรกรรมที่มีปริมาณมากจนผิดปกติ หรือในช่วงที่ตลาดการเงินการลงทุนมีความผันผวนอย่างรุนแรงทำให้ผู้ลงทุนเกิดความกังวลจนเกิดการแตกตื่นเร่งขายคืนหน่วยลงทุน จนอาจถึงขั้นทำให้กองทุนรวมขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระค่าไถ่ถอน และอาจต้องยกเลิกกองทุนรวมในที่สุด ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจะกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ LMTs จึงเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยลดทอนผลกระทบดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม โดย บลจ. สามารถเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมนี้เพื่อช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายแก่กองทุนรวมนั้น ๆ และผลดีที่ตามมาก็คือการช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบที่มีต่อตลาดการเงินและการลงทุนในวงกว้างได้

LMTs มี 7 เครื่องมือด้วยกัน มีอะไรบ้างที่ผู้ลงทุนควรรู้ สรุปได้ดังนี้

7 เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวมและประโยชน์ที่ผู้ลงทุนควรรู้

  • กลุ่มส่งผ่านต้นทุนการปรับพอร์ตให้กับผู้ทำธุรกรรม

1. Liquidity Fee การคิดค่าธรรมเนียมผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกเกินปริมาณ และ/ หรือ ระยะเวลาที่กำหนด

เนื่องจากการขายคืนดังกล่าวมีผลให้กองทุนรวมมีต้นทุนซึ่งเกิดจากการต้องเร่งขายสินทรัพย์ออกในขณะที่ราคาตลาดอาจไม่เหมาะสม ในอดีตต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะเป็นภาระรวมอยู่ใน NAV ของกองทุนรวมนั้น ๆ ทำให้กระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นด้วย ดังนั้น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกเกินปริมาณหรือระยะเวลาที่ บลจ. กำหนดจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นที่ไม่ได้มีการขายคืนในช่วงเวลาดังกล่าว

2. Swing Pricing การปรับ NAV ต่อหน่วยลงทุนให้สะท้อนต้นทุนในการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม

เป็นเครื่องมือที่ให้ บลจ. สามารถปรับ NAV ต่อหน่วยลงทุน ในวันที่มีปริมาณการซื้อขายหน่วยลงทุนมากผิดปกติและเกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวมด้วยการเพิ่มหรือหักออกด้วย Swing Factor ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการซื้อหรือขายโดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ต้องมีการเร่งขายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในตลาดรองต่ำหรือต้องไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนด โดย Swing Factor อาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละ บลจ. หรือในแต่ละกองทุนรวมขึ้นกับลักษณะชนิดของสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนเป็นหลักหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นกับกองทุนรวมนั้น ๆ

3. Anti-Dilution Levies การเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการปรับพอร์ตของกองทุนรวม

เป็นค่าธรรมเนียมที่ บลจ. สามารถเรียกเก็บเฉพาะในวันที่มีการทำธุรกรรมในภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง หรือ สภาพคล่องผิดปกติ โดยจะเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ทำธุรกรรมจากฝั่งผู้ซื้อ/สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้า หรือ ฝั่งผู้ขาย/สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ บลจ. กำหนด

  • กลุ่มช่วยชะลอความร้อนแรงของปริมาณธุรกรรม

4. Notice Period การกำหนดระยะเวลาให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องส่งคำสั่งทำรายการล่วงหน้า

บลจ. จะกำหนดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกในปริมาณมาก ต้องแจ้งล่วงหน้าซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

5. Redemption Gate การจำกัดปริมาณการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก

เป็นเครื่องมือที่ บลจ. ใช้เพื่อกำหนดเพดานมูลค่าที่จะให้ผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกได้ โดยในวันที่ใช้เครื่องมือนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนออกจะได้รับเงินค่าขายคืนตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ เช่น กองทุนรวมมี NAV = 1,000 ล้านบาท กำหนด Redemption Gate ไว้ที่ 10% หมายความว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระค่าขายคืนหรือสับเปลี่ยนออกหน่วยลงทุนทุกรายรวมกันไม่เกิน 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) หรือเท่ากับ 100 ล้านบาท (1,000 x 10%)

ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกในวันที่ติด Redemption Gate จะได้รับชำระเงินในสัดส่วนเดียวกันทั้งหมด โดย บลจ. จะใช้วิธีชำระตามสัดส่วน (Pro rata) สำหรับรายการส่วนที่เหลือ บลจ. จะนำไปรวมกับรายการขายคืนหรือสับเปลี่ยนออกในวันถัดไป ซึ่งหากวันทำการถัดไป บลจ. ยังคงใช้เครื่องมือนี้ ก็จะชำระคืนตามวิธี Pro rata โดยไม่มีการจัดลำดับก่อนหลัง แต่หากวันทำการถัดไปกองทุนรวมมีสภาพคล่องเพียงพอ ทำให้ บลจ. ไม่ต้องใช้เครื่องมือนี้ บลจ. ก็จะชำระคืนตามรายการขายคืนหรือสับเปลี่ยนออกหน่วยลงทุนที่ได้รับไว้ทั้งหมด

6. Side Pocket การแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ขาดสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนรวม

เป็นเครื่องมือที่ บลจ. ใช้แยกทรัพย์สินที่ติดปัญหาสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุน โดยในวันที่ บลจ. ดำเนินการแยกทรัพย์สิน บลจ. จะทำทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันทำการนั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการคืนเงินที่ บลจ. อาจได้รับจากทรัพย์สินที่ติดปัญหาด้านสภาพคล่องในอนาคต

7. Suspension of Dealings การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราว

เพื่อจำกัดผลกระทบเรื่องความตื่นตระหนกจากความผันผวนของตลาด และรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมและต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการควบคุมและข้อบังคับตามประกาศของ สำนักงาน ก.ล.ต.ซึ่งการระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนต้องไม่เกิน 5 วันทำการ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต.

อย่างไรก็ตาม การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงด้วยเครื่องมือ LMTs ข้างต้นในแต่ละกองทุนรวมอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ขึ้นกับดุลพินิจของแต่ละ บลจ. ในการกำหนดเงื่อนไข แต่หลักการหรือเป้าประสงค์ในการใช้งานเหมือนกัน คือ เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อปกป้องผลประโยชน์โดยรวมของกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ ผู้ลงทุนจึงสบายใจและวางใจได้กับการลงทุนในกองทุนรวม ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรจะศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุน และควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือ LMTs จากหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมไว้ด้วยเพื่อให้รู้เท่าทันและเข้าใจการลงทุนอย่างดีที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top