นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ความไม่มั่นใจต่อการบริหารจัดการเรื่องอุทกภัย การจัดการน้ำท่วมขัง และการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และเริ่มวิตกกังวลมากขึ้นว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การสูญเสียรายได้และทรัพย์สินแบบปี 2554 หรือไม่ และการเตรียมการรับมือมีประสิทธิภาพอย่างไร ขณะที่ปัญหาที่ใหญ่กว่าน้ำท่วมขัง อุทกภัยใหญ่แบบปี 2554 ก็คืออีก 8 ปี กรุงเทพฯ อาจจมทะเล สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมรุนแรง หากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่างจริงจัง
จากคำเตือนในงานวิจัยของกรีนพีซที่เผยแพร่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ประเมินเบื้องต้นว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเผชิญสภาวะจมทะเล กระทบพื้นที่ 1,521 ตารางกิโลเมตร (จากพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด 1,569 ตารางเมตร) ความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้น 5.12 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 18.6 ล้านล้านบาท กระทบประชาชนขั้นต่ำ 10.45 ล้านคน ความเสียหายทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และ จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในบรรดาเมืองใหญ่ริมชายฝั่งในเอเชียที่มีความเสี่ยงที่จมน้ำทะเล (Coastal flooding) ความเสียหายคิดเป็น 96% ของจีดีพีของกรุงเทพฯ หากรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ไม่นำเสนอนโยบายหรือโครงการเพื่อแก้ปัญหานี้ตั้งแต่บัดนี้ หากช้ากว่านี้จะไม่ทันการณ์
นายอนุสรณ์ มองว่า หากเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 ครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติสูงกว่าเดิม ความทนทานต่อการสูญเสียรายได้ ทรัพย์สินน้อยกว่าเดิม และการกลับคืนสู่สภาพเดิมยากกว่าเดิม มีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นในการจ่ายเงินเยียวยาและชดเชยรายได้ ความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพเดิม (Resilience) ของเศรษฐกิจโดยรวมทำได้ยากกว่าปี 2554
“หากมีอุทกภัยใหญ่แบบปี 2554 และปล่อยให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์กลางทางธุรกิจ การฟื้นฟูในปี 2565 จะยากกว่ามาก เพราะครัวเรือนมีหนี้ครัวเรือนสูง ภาครัฐมีหนี้สาธารณะสูง ภาคธุรกิจภาคผลิตเพิ่งฟื้นตัวหลังวิกฤติเศรษฐกิจโควิด หากเกิดสถานการณ์แบบปี 2554 เกิดขึ้น จีดีพีไตรมาส 4 ปี 2565 อาจติดลบมากกว่าปี 2554 ก็ได้ ความสามารถในการเยียวยา ชดเชยรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ทำได้ยากกว่าเพราะมีข้อจำกัดทางงบประมาณ ฉะนั้นต้องอย่างปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมแบบปี 54” นายอนุสรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากปี 2554 ทำให้ นิคมอุตสาหกรรมมีระบบป้องกันน้ำท่วมดีขึ้นมาก ขณะที่ภาครัฐเองก็มีวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม จึงหวังว่าจะไม่เกิดผลกระทบแบบปี 2554
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาวิกฤติใหญ่น้ำท่วมขัง อุทกภัย และกรุงเทพฯ กำลังจมลง เป็นปัญหาที่ต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาตั้งแต่บัดนี้ หากช้ากว่านี้จะไม่ทันกาลอย่างแน่นอน เพราะกรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังจะจมลงใต้ระดับน้ำทะเล น้ำทะเลจะเอ่อล้นหนุนสูง และพื้นดินทรุดตัวลง โดยทรุดตัวปีละ 1-2 เซนติเมตร มีความหนาแน่นของประชากรมาก มีโครงการก่อสร้างตึกสูงจำนวนมากในพื้นที่ดินอ่อน ทางด้านกายภาพนั้น พื้นที่กรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น ภาวะโลกร้อนรุนแรงทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น กรีนพีซประจำเอเชียตะวันออก เคยระบุว่า พื้นที่มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงอีกไม่เกิน 10 ปี พื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจของประเทศ เช่น สีลม สาทร เพลินจิต รัชดาฯ ล้วนได้รับผลกระทบหมด รวมทั้งศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และรัฐสภา สภาวะดังกล่าวจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และศูนย์กลางการบริหารประเทศได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การป้องกันกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ให้จมอยู่ใต้น้ำนั้น ต้องดำเนินการดังนี้ทันที ดังนี้
ข้อ 1 ต้องพิจารณาสร้าง “เขื่อนกั้นน้ำ” หรือ “ถนนเลียบชายฝั่งยกสูง” ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งรัฐบาลต้องวางแผนงบประมาณให้ดี
ข้อ 2 การเร่งปลูกป่าชายเลนเพื่อให้เป็นพื้นที่กันชน ซับน้ำ รองรับความรุนแรงของคลื่นทะเล การปลูกป่าชายเลนตลอดแนวพื้นที่ จากบางขุนเทียน สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ จะฟื้นฟูธรรมชาติและยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย
ข้อ 3 ต้องมีจัดระเบียบการใช้ที่ดินริมชายฝั่งทั้งหมด การใช้ที่ดินริมแม่น้ำลำคลองเพื่อขยายแม่น้ำและขุดลอกคูคลองได้เต็มที่
ข้อ 4 ต้องหยุดขยายตัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑล กระจายการลงทุนและความเจริญไปยังภูมิภาค ลดความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ
ข้อ 5 สังคมไทยต้องร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอน และลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมและเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของประเทศให้เป็นระบบพลังงานหมุนเวียน ระบบพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดกว่า
ข้อ 6 นโยบายการย้ายเมืองหลวงแบบกรุงจาร์กาตา ควรถูกนำมาศึกษาอย่างจริงจัง
“การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ หรือถนนเลียบชายฝั่งยกสูง เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ต้องใช้งบประมาณสูง แต่ก็คุ้มค่าการลงทุนหากไม่ย้ายเมืองหลวง เนื่องจากขณะนี้ ปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำทะเลหนุนสูงก็สามารถสร้างความเสียหายปีละ 40,000 ล้านบาทอยู่แล้ว และมีปัญหาทุกปี หากปล่อยให้กรุงเทพฯ จมลง ความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมจะรุนแรงมาก” นายอนุสรณ์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ย. 65)
Tags: lifestyle, กรุงเทพมหานคร, น้ำท่วม, พื้นดินทรุดตัว, อนุสรณ์ ธรรมใจ