ก.อุต เร่งต่อยอดโครงการ OPOAI-C หลังเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร-ดันยอดขายพุ่ง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการดำเนินงานโครงการ แปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (One Province One Agro-Industrial Community: OPOAI-C) ว่า แนวทางการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแปร รูปการเกษตรในภูมิภาค ผ่านโครงการโอปอย-ซี (OPOAI-C) ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน/กลุ่มชุมชนการเกษตร/สหกรณ์การเกษตร โดยดึงศักยภาพของวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ชุมชน ภายใต้แนวความคิดและกรอบการทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการผสานการดำเนินธุรกิจเข้าไว้ด้วยกันกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี รวมถึงความร่วมมือจากผู้มีความรู้ความชำนาญในสายงานต่าง ๆ ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและเอื้อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ เป็นการเพิ่มศักยภาพ พร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

โดยทีมที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ดำเนินการศึกษาตาม กระบวนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ ของการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินการโครงการฯ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตามเจตนารมณ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม

“ผมเชื่อมั่นว่าแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการผ่านโครงการโอปอยซี เป็นแนวทางที่เหมาะสม สอดรับกับการพัฒนา ประเทศที่ต้องเสริมสร้างพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ที่มีศักยภาพของประเทศไทย”นายกอบชัย กล่าว

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผลการดำเนินโครงการ OPOAI-C ในภาพรวม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร จำนวน 2,516 ราย จากเป้าหมาย 2,280 ราย ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 304 ผลิตภัณฑ์ จากเป้าหมาย 304 ผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันในส่วนของผลการประเมินโครงการในภาพรวม พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่ผ่านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ดีเด่น จำนวน 11 กลุ่ม โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจอย่างมาก ซึ่งตลอดโครงการฯ สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้เฉลี่ย 52% และคาดการณ์ว่าโครงการนี้ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 42 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 61 ล้านบาท และสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 2,900 ราย ซึ่งบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดให้เกษตรกรที่ได้รับการพัฒนา มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6% ต่อปี คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท/ปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top