GULF มอบ GUNKUL ติดตั้งระบบโซลาร์เสาสัญญาณ AIS 100 MW

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า ภายหลังจากการลงนามความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวิร์ค จำกัด ในเครือบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ในฐานะที่ GULF เป็นผู้บริหารงานก่อสร้าง (EPC) เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์เสาสัญญาณเครือข่าย AIS ทั่วประเทศ กว่า 100 เมกะวัตต์ ล่าสุดได้มอบหมายให้ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากว่า 10 ปี เป็นผู้ออกแบบติดตั้งโครงการ พร้อมตอกย้ำนับต่อจากนี้ GULF และ GUNKUL จะเดินหน้าร่วมกันลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 1,000 เมกะวัตต์ตามแผนภายใน 5 ปี

GUNKUL เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย เช่น โครงการพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) โดยมีทีมงานพัฒนาธุรกิจและทีมงานก่อสร้างที่มีประสบการณ์ สามารถรองรับงานโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้น บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วจึงเห็นควรให้ GUNKUL เข้ามาเป็นผู้รับงานออกแบบติดตั้ง และบริหารงานก่อสร้าง (EPC) นอกจากนี้ จากการที่ทั้งสองบริษัทต่างก็ดำเนินธุรกิจโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย จึงสามารถร่วมกันบริหารจัดการต้นทุนการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับโครงการของ AIS

ในส่วนของความร่วมมือภายใต้บริษัทกัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จำกัด (GGC) นั้น ทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีกหลายโครงการร่วมกัน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ โดยคาดว่าจะมีความคืบหน้าในปลายปีนี้

ด้านนางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน GUNKUL กล่าวว่า GUNKUL มีความเชื่อมั่นที่จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการติดตั้งโครงการโซลาร์มายาวนานกว่า 10 ปี และติดตั้งมาแล้วในหลากหลายรูปแบบมาบริหารจัดการโครงการนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทั้งในเรื่องของงบประมาณและเวลา โดย GUNKUL ยังมีความพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรในธุรกิจโซลาร์ของ GULF ทั้งในส่วนของ EPC หรือความร่วมมืออื่น ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มกับทั้งสองบริษัท

ส่วนความคืบหน้าของ GGC นั้น นอกจากแผนการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ แล้ว ทั้ง GUNKUL และ GULF ยังร่วมกันมองหาโอกาสในการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยรับมือลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานควบคู่กับการแสวงหาโครงการไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 5 ปีตามที่ได้ตั้งไว้

อนึ่ง GULF และ GUNKUL เซ็นสัญญาความร่วมมือในการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Joint Venture Agreement) เมื่อเดือนพ.ค.65 ตั้งเป้าจะร่วมกันพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 1,000 MW ใน 5 ปี ต่อมาในเดือนก.ค.65 ได้ร่วมจัดตั้ง กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จำกัด (GGC) ถือหุ้น 50:50 โดย GGC เป็นผู้ถือหุ้นในโครงการพลังงานลม 3 โครงการ รวมทั้งสิ้น 170 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว ปัจจุบัน ทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีกหลายโครงการร่วมกัน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top