ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย ในเดือนก.ค.65 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอลงบ้าง โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงบ้าง หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงสอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ดี ภาคบริการยังคงปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนการผลิตจากต่างประเทศมากขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานชะลอลง แต่อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้น สำหรับตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากดุลการค้าที่กลับมาขาดดุลตามมูลค่าการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า ในเดือนก.ค. 65 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนทยอยปรับดีขึ้นในหลายด้านทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่สูงยังเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เร่งไปในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านการก่อสร้างทยอยปรับดีขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง หลังมีการเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงต้นปีงบประมาณ สำหรับรายจ่ายประจำทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ 1) โลหะตามความต้องการในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ลดลง 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามอุปสงค์โลกที่ลดลง และ 3) สินค้าเกษตรส่งออกไปจีนหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอาเซียน เป็นผลจากการที่ภาครัฐยกเลิกการลงทะเบียนเข้าไทยผ่านระบบ Thailand Pass ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 และอนุญาตให้เดินทางผ่านชายแดนไทยได้มากขึ้น อีกทั้งหลายประเทศต้นทางผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหมวดยานยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนการผลิตจากต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ หมวดเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามการเร่งผลิต หลังมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียม หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และหมวดโลหะปรับลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัว
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เร่งขึ้นมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานชะลอลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเร่งขึ้นตามราคาผักและราคาเนื้อสัตว์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นตามการปรับขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าโดยสารสาธารณะ สำหรับตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น จากดุลการค้าที่กลับมาขาดดุลตามมูลค่าการส่งออกที่ลดลง และการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ดุลบัญชีเดินสะพัดมีโอกาสจะกลับมาเกินดุลได้ จากปัจจัยหนุนของภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามามากขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.ค.อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อนที่จะปรับแข็งค่าขึ้นในเดือน ส.ค. หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ชะลอลง ส่งผลให้ตลาดการเงินผ่อนคลายลง เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย
แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังของเดือน ส.ค. เงินบาทกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/65 ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะเดียวกัน เงินบาทยังอ่อนค่าตามเงินหยวน ภายหลังมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนได้รับความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนั้น การที่ประธานเฟดได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมประจำปี ที่เมืองแจ็คสัน โฮล เมื่อวันที่ 26 ส.ค.65 โดยระบุว่าเฟดจะยังจำเป็นต้องจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมเงินเฟ้อนั้น ได้ส่งผลทำให้เงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้กลับมาอ่อนค่า เนื่องจากมุมมองของตลาดเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงลดลง เงินบาทจึงอ่อนค่า แต่อย่างไรก็ดี เงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ยังไม่พบการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ
“การที่ประธานเฟดพูดแบบนี้ ทั่วโลกเลยรู้สึกว่า sentiment เปลี่ยนแปลงไป ราคาสินทรัพย์เสี่ยงลดลง บาทจึงอ่อนค่าตั้งแต่หลังจากวันที่ 26 ส.ค.” น.ส.ชญาวดี กล่าว
อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป ถ้าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แรงกดดันที่จะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงก็จะมีจำกัดในระดับหนึ่ง
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.65 ด้วยว่า คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนส.ค. มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2.อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3.การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 65)
Tags: ชญาวดี ชัยอนันต์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เศรษฐกิจไทย