ครม.ไฟเขียวจัดตั้ง JTC ไทย-มองโกเลีย ตั้งเป้าการค้า 100 ล้านดอลล์ ในปี 70

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย กับกระทรวงการต่างประเทศแห่งมองโกเลีย และเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-มองโกเลีย ครั้งที่ 1 ซึ่งประเทศมองโกเลียเป็นภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย. 65 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สำหรับร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงการหารือในประเด็นอื่นๆ ที่สนใจร่วมกัน

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้ากำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยประธานมาจากผู้แทนที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน ส่วนกรรมการจะเป็นผู้แทนภาครัฐและเอกชนจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจาก 2 ประเทศ โดยร่างบันทึกความเข้าใจมีผลบังคับใช้ 5 ปี และต่ออายุ 5 ปีอัตโนมัติ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรต่ออีกฝ่าย

ในส่วนของท่าทีของไทยที่ใช้เป็นกรอบหารือในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย-มองโกเลีย ครั้งที่ 1 ครอบคลุมความร่วมมือหลายมิติ อาทิ

1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ไทยจะขอให้มองโกเลียร่วมผลักดันมูลค่าการค้ารวมระหว่างสองประเทศ ตั้งเป้า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570 เพื่อให้สอดรับกับแผนความร่วมมือระยะ 5 ปี ไทย-มองโกเลีย (พ.ศ.2565-2570) ใน 5 สาขา ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การเกษตร และความร่วมมือทางวิชาการ

2. ไทยจะผลักดันการจัดทำความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างความตกลงร่วมกับมองโกเลีย

3. ไทยเสนอให้มีการทบทวนอนุสัญญา เพื่อยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ร่วมกับมองโกเลีย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในปัจจุบัน เช่น กรอบความร่วมมือ Inclusive framework ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และสร้างความเป็นธรรมในการเก็บภาษีแก่ประเทศต่างๆ เป็นต้น

4. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาทิ

  • ด้านการเกษตร มองโกเลียจะจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตรกับไทย รวมทั้งพิจารณาเปิดตลาดนำเข้าสินค้าศักยภาพของแต่ละฝ่าย ซึ่งข้อมูลในปี 2564 สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากมองโกเลีย คือ สินแร่โลหะ ส่วนสินค้าส่งออกไปมองโกเลีย ได้แก่ กระดาษ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เป็นต้น
  • ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ไทยจะเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างอูลานบาตาร์ (เมืองหลวงของมองโกเลีย)-ภูเก็ต
  • ด้านการท่องเที่ยว ไทยจะส่งเสริมให้คนมองโกเลียมาเที่ยวไทย และส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มองโกเลียต้องการให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในกิจการรีไซเคิลขยะและพลังงานหมุนเวียน
  • ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่มองโกเลีย เช่น การฝึกอบรมบุคลากรด้านเกษตร สาธารณสุข เป็นต้น

“การประชุมครั้งนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลีย รวมถึงขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ในการนำเข้าแร่ธาตุ เช่น ทองแดง ถ่านหิน ดีบุก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งมองโกเลียยังจะเป็นประตูบานใหม่ที่จะเปิดสู่ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศยูเรเซียได้”

น.ส.รัชดา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top