กสทช.คาดเปิดประมูลใบอนุญาตดาวเทียม ธ.ค.65 ปรับใหม่เป็น 5 ชุดจากเดิม 4 ชุด

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ประธานการรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) กล่าวว่า การจัดทำร่างฯ ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU), สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ, เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้กับรัฐสภา และตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการโทรคมนาคมตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ทำการปรับปรุงแก้ไขร่างฯ ให้มีความเหมาะสม ก่อนจะนำมารับฟังความคิดเห็นในวันนี้ และหลังจากสรุปผลของการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว กสทช.จะนำไปปรับปรุงร่างฯ ให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ก็คาดว่าจะสามารถจัดประมูลได้ในเดือน ธ.ค.65

สำหรับจำนวนชุดข่ายงานดาวเทียม (Package) กสทช.ปรับปรุงการกำหนดจำนวนในลักษณะจัดชุด โดยนำข่ายงานดาวเทียมประเภทวงโคจรประจำที่ (GSO) ที่ประเทศไทยมีสิทธิอยู่เดิม จำนวน 13 ข่ายงานดาวเทียม สำหรับใช้งาน ณ ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมจำนวน 7 ตำแหน่ง คือ 50.5 องศาตะวันออก, 51 องศาตะวันออก, 78.5 องศาตะวันออก, 119.5 องศาตะวันออก, 120 องศาตะวันออก, 126 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก ที่การอนุญาตกำลังจะสิ้นสุดลง หรือที่ไม่มีผู้ได้รับอนุญาตก่อนที่แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมมีผลใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 19 ก.พ.63)

กสทช. เห็นว่า การจัดชุดข่ายงานดาวเทียมโดยแบ่งตามกลุ่มที่มีตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่อยู่ใกล้กันมากจำนวน 5 ชุด (Package) จะมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมที่สุด ทั้งในด้านการบริหารจัดการดาวเทียมและการกำกับดูแล การคุ้มค่าในการลงทุน การตอบสนองความต้องการของผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ตลอดจนมีความเป็นไปได้ในการรักษาสิทธิข่ายงานดาวเทียมและ ตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทยที่มีสิทธิอยู่เดิมได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ตามร่างประกาศฯ ได้จัดแบ่งใหม่เป็นจำนวน 5 ชุด จากเดิม 4 ชุด โดยแบ่งตามกลุ่มที่มีตำแนห่งวงโคจรดาวเทียมที่อยู่ใกล้กัน ได้แก่

ชุดที่ 1 วงโคจรตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก /51 องศาตะวันออก มีข่ายงานดาวเทียม 4 ข่าย คือ THAICOM-C1 , THAICOM-N1 โดย 2 ข่ายมีสถานะขั้นสมบูรณ์ และ THAICOM-P1R อยู่ขั้นต้น , THAICOM-51 อยู่ขั้นต้น

ชุดที่ 2 วงโคจรตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก มี 2 ข่ายงานดาวเทียม THAICOM-A2B อยู่ขั้นสิทธิสมบูรณ์, THAISAT-78.5E ยังอยู่สิทธิขั้นต้น

ชุดที่ 3 วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก มี 3 ข่ายงานดาวเทียม THAICOM-IP1 สถานะขั้นสิทธิสมบูรณ์ , THAICOM-P3 สถานะขั้นสิทธิสมบูรณ์, THAISAT-119.5E ยังอยู่สิทธิขั้นต้น และ 120 องศาตะวันออก มี THAISAT-120E อยู่ในสิทธิขั้นต้น

ชุดที่ 4 วงโคจรตำแหน่ง 126 องศาตะวันออก มี 1 ข่ายงานดาวเทียม THAISAT-120E อยู่สิทธิขั้นติ้น

ชุดที่ 5 วงโคจรตำแหน่ง 142 องศาตะวันออก มี 2 ข่ายงานดาวเทียมคือ THAICOM-G3K สิทธิขั้นสมบูรณ์ และ THAISAT-142E สิทธิขั้นต้น

ส่วนการกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาต ค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) กำหนดจากราคาการประมูลสูงสุดในขั้นตอนการประมูล โดย กสทช. เป็นผู้กำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตฯ โดยมูลค่าการอนุญาตฯ ดังกล่าว จะนำส่งเป็นรายได้รัฐ ภายหลังจากหัก ค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการ อนุญาตฯ และไม่สามารถนาค่าธรรมเนียมรายปีมาหักได้

การกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด มีหลักการ ประกอบด้วย การอ้างอิงจากค่าธรรมเนียมแรกเข้าเมื่อได้รับสิทธิขั้นสมบูรณ์ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม การกำหนดมูลค่าการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นรายข่ายงานดาวเทียม (filing) และคำนวณรวมมูลค่าเป็น Package

นายธนพันธุ์ กล่าววว่า ราคาขั้นต่ำรอบใหม่นี้ไม่ได้ต่างจากเดิมมาก รวมกันแล้วราคาทั้ง 4 ชุด อยู่ที่ประมาณ 1800 ล้านบาท

ชุดที่ 1 ราคาตามหลักเกณฑ์เดิม 676 ล้านบาท ราคาในหลักเกณฑ์ใหม่ ถ้ามีผู้เข้าประมูลรายเดียวราคา 522 ล้านบาท ผู้ประมูลมากกว่าหนึ่งราย 374 ล้านบาท

ชุดที่ 2 ราคาตามหลักเกณฑ์เดิม 366 ล้านบาท ราคาในหลักเกณฑ์ใหม่ ถ้าผู้เข้าประมูลรายเดียว 504 ล้านบาท ผู้เข้าประมูลมากกว่าหนึ่งราย 360 ล้านบาท

ชุดที่ 3 ราคาตามหลักเกณฑ์เดิม 392 ล้านบาท ราคาตามหลักเกณฑ์ใหม่ถ้ามีผู้เข้าประมูล 1 ราย 547 ล้านบาท ผู้เข้าประมูลมากกว่าหนึ่งราย 397 ล้านบาท

ชุดที่ 4 ราคาตามหลักเกณฑ์เดิม 364 ราคาในหลักเกณฑ์ใหม่ 8.6 ล้านบาท

ชุดที่ 5 ราคาตามหลักเกณฑ์ใหม่ 259 ล้านบาท ถ้ามีผู้เข้าประมูลมากกว่าหนึ่งราย 189 ล้านบาท

ปัจจัยที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาและกำหนดเป็นราคาขั้นต่ำของการอนุญาตฯ ประกอบด้วยการประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการชำระค่าธรรมเนียมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับข่ายงาน ดาวเทียมต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) , การประหยัดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการทั้งหมดของสำนักงาน กสทช. , ส่วนต่างของมูลค่าหลักประกัน ,โอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจก่อนผู้ยื่นคำขอรับอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมใหม่ , ข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการรักษาสิทธิของข่ายงานดาวเทียม , จำนวนย่านความถี่ที่สามารถใช้งานของแต่ละข่ายงานดาวเทียม และโอกาสในการให้บริการของข่ายงานดาวเทียม

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมให้มากยิ่งขึ้น จึงเสนอแนวทางการปรับปรุงการกำหนดราคาขั้นต่ำและการทบทวนวิธีการคำนวณราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะ จัดชุด (Package) โดยการแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

เงื่อนไขการวางหลักประกัน กำหนดให้วางเงินเป็นรายชุดข่ายงานดาวเทียม โดยคิดเป็น 10% ของราคาขั้นต่ำของแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียม (Package) เพื่อเป็นการประกันความเสียหายและคุ้มครองการเสียหาย แต่เนื่องจากการปรับปรุงแนวทางการ จัดแบ่งชุดข่ายงานดาวเทียมใหม่จำนวน 5 ชุด หากผู้ขอรับอนุญาตประสงค์จะขอรับอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเฉพาะชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4 (ที่ตำแหน่ง 126 องศาตะวันออกและมีเฉพาะข่ายงานดาวเทียม ในสิทธิขั้นต้น) แต่ต้องวางหลักประกันในราคาขั้นต่ำสูงสุดของชุดข่ายงานดาวเทียมทั้งหมดจะมีมูลค่าสูงกว่าราคาขั้นต่ำของชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสม จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ของ การวางหลักประกันการขอรับอนุญาต ดังนี้

(1) กรณีการขอรับอนุญาตสิทธิฯ เฉพาะชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4 ให้วางหลักประกันการขอรับอนุญาต โดยคิดเป็น 10% ของราคาขั้นต่ำของชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4

(2) กรณีการขอรับอนุญาตสิทธิฯ ในชุดข่ายงานดาวเทียมอื่นหรือในชุดข่ายงานดาวเทียมเพิ่มเติม นอกเหนือจากชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4 ให้วางหลักประกันการขอรับอนุญาตในวงเงินของชุดข่ายงานดาวเทียมที่ มีราคาขั้นต่าสูงสุด (โดยคิดจากราคาขั้นต่ำกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการคัดเลือกจำนวน 1 ราย)

สำหรับเงื่อนไขการวางหลักประกันในการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตามประกาศฯ ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการคัดเลือกต้องวางหลักประกันในการรักษาสิทธิในการเข้าใช้ วงโคจรดาวเทียม (เป็นรายชุดข่ายงานดาวเทียม โดยคิดเป็น 5% ของประมาณการต้นทุนการสร้างดาวเทียม และการนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรตามที่ระบุไว้ในคำขอรับอนุญาต)

แต่เนื่องจากในชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4 ตำแหน่ง 126 องศาตะวันออก) จะมีเฉพาะข่ายงานดาวเทียมในสิทธิขั้นต้น ยังอยู่ในกระบวนการประสานงาน คลื่นความถี่ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสม จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยให้ยกเว้นผู้ได้รับ อนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4 ไม่ต้องวางหลักประกันในการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

ร่างประกาศ กสทช. ได้มีการแก้ไขปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาต โดยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดคุณสมบัติ ด้านประสบการณ์และความสามารถด้านการเงิน และเพิ่มการพิจารณาประเด็นความมั่นคงและพื้นที่ให้บริการ โดยพิจารณาคุณสมบัติทั่วไป ใช้กับทุกชุดข่ายงานดาวเทียม และคุณสมบัติเฉพาะที่ใช้สำหรับชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 2 (78.5E) และชุดที่ 3 (119.5/120E) ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ของประเทศไทยเป็นหลัก

และเพิ่มเติมการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับอนุญาตให้ไม่มีความเกี่ยวโยงกันกับผู้ขอรับอนุญาตรายอื่นด้วย เพื่อป้องกันการเข้าร่วมการแข่งขันของผู้ขอรับอนุญาตที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

ส่วนวิธีคัดเลือกจะใช้วิธีการประมูล โดยแก้ไขการกำหนดชั้นราคาประมูล โดยชุดที่มีผู้ร่วมประมูล 1 ราย กำหนดขั้นราคาประมูล 5% แต่หากมีผู้ร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย กำหนดรอบที่ 1 ที่ 30% และรอบที่ 2 เป็นต้นไป 5% ยกเว้น ชุดที่ 4 กำหนดขั้นราคาประมูล 10%

ทั้งนี้ หากมีผู้ยื่นขอรับใช้สิทธิเพียง 1 ราย ให้ขยายการขอรับอนุญาตเพิ่มอีก 14 วัน แต่ครบกำหนดแล้วยังคงมีเพียง 1 ราย จะดำเนินการคัดเลือกต่อไป

ร่างประกาศแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดวิธีการคัดเลือกและกฎการคัดเลือก ทั้งนี้ กำหนดให้ใช้วิธีการคัดเลือก ผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ด้วยวิธีการประมูล เพื่อตัดสินผู้ชนะการคัดเลือกชุดข่ายงานดาวเทียมที่ผู้ชนะการคัดเลือกแต่ละรายได้รับอนุญาต และราคาสุดท้ายของชุดข่ายงานดาวเทียม โดยจะประมูลชุดข่ายงานดาวเทียมทีละชุดในรูปแบบ Sequential Ascending Clock Auction

นอกจากนี้ ได้เพิ่มข้อกำหนด กรณีที่ครบกำหนดของกระบวนการเปิดรับคำขอรับอนุญาตไปจนถึงวันที่ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วม การคัดเลือกแล้วพบว่ามีผู้เข้าร่วมการคัดเลือกเพียง 1 ราย กสทช. จะเปิดให้มีการรับคำขอเพิ่มอีก 14 วัน และภายหลังจากครบกำหนดแล้วไม่มีผู้ขอรับอนุญาตเพิ่มเติม กสทช. จะคัดเลือกตามกระบวนการต่อไปเพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของ ประเทศไทย หรือหากไม่มีผู้เข้าร่วมคัดเลือก กสทช. จะพิจารณาเปิดให้มีการคัดเลือกใหม่ตามความเหมาะสม

หากประมูลได้แล้ว กสทช.จะอนุญาตให้ใช้สิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ระยะเวลา 20 ปี ยกเว้นชุดที่ 3 ที่ใช้สิทธิวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ข่ายงานดาวเทียม THAICOM-IP1 ที่เดิมเป็นดาวเทียมไทยคม 4 กำหนดให้มีระยะเวลาการอนุญาตเริ่มต้นตั้งแต่วันสิ้นสุดอายุวิศวกรรมของดาวเทียมไทยคม 4 ประมาณปี 2566 และให้มีระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลงพร้อมกันทั้งชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 3 ที่ได้รับอนุญาต

ในร่างประกาศฯ เพิ่มเติมข้อกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม มีหน้าที่จัดทำแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการ ซึ่งจัดให้มีบริการเพื่อรองรับผู้ใช้บริการของผู้ได้รับอนุญาตรายเดิมที่ประสงค์จะใช้บริการต่อไปได้ กรณีการคุ้มครองผู้ใช้บริการของดาวเทียมไทยคม 4 ให้ได้รับบริการอย่างต่อเนื่องภายหลังการอนุญาตเดิมสิ้นสุดลง

และยังเพิ่มเติมข้อกำหนดให้ส่งแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการ และแผนการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวกับดาวเทียมเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 ปี ก่อนระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลง เพื่อช่วยลดข้อกังวลในเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน และมิให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ รวมถึงการเตรียมการสำหรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมคราวต่อไป

ทั้งนี้ กสทช.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) ในระหว่างวันที่ 11 ส.ค.-12 ก.ย.2565

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top