นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ มร.อัจลาน อะลาจลัน ประธานสภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย และเปิดงาน Saudi-Thai Business Forum ที่สภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย (Federation of Saudi Chamber) ประเทศซาอุดีอาระเบีย ว่า เป็นกิจกรรมใหญ่ที่นำคณะเอกชนไทย 138 ราย มาเจรจาการค้าที่ซาอุฯ ซึ่งถือว่าครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจาก
1. สามารถลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันระหว่างสภาเอกชนของประเทศไทยกับสภาเอกชนของซาอุดีอาระเบีย โดยมีการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบียขึ้น และได้มีการเซ็น MOU แล้ว หลังจากนี้สภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย จะขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้า คาดการณ์ว่าสามารถทำการค้าร่วมกัน ซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.65 ที่ได้มีการลงนามจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุฯ ขึ้น
2. การทำสัญญาซื้อขายเซ็น MOU ซื้อ-ขาย ภายในระยะเวลาที่กำหนด สามารถลงนาม MOU ได้แล้ว 10 คู่ ที่เจดดาห์ และที่ริยาด มีมูลค่าทั้งหมดรวม 1,000 ล้านบาท
3. กิจกรรมเจรจาซื้อขายทางธุรกิจ เจรจาซื้อขายจริง ทำสัญญาในเวลาที่กำหนดและตกลงราคากันที่นี่ สามารถทำยอดขายได้ทั้งที่ริยาดและที่เจดดาห์ รวมกันแล้วประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยการเดินทางในครั้งนี้ สามารถขายสินค้าได้ทันที 2,200 ล้านบาท ทำ MOU 1,000 ล้านบาท และจับคู่ซื้อขายทำสัญญาในทันที 1,200 ล้านบาท และยังคาดการณ์ยอดขายในอนาคตอีก 10,000 ล้านบาทภายใน 1 ปี รวมเป็น 12,200 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมจากการเดินทางนำคณะเอกชนมาที่ซาอุฯ ในครั้งนี้
“โดยเฉพาะสินค้าอาหารเป็นหลัก เครื่องปรุงรส ผักสด เครื่องแกง อาหารกระป๋อง อาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง ซาดีนกระป๋อง ผลไม้กระป๋องและผลไม้สด รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร อาหารเสริม วันนี้ขายได้ดี และสินค้าเหล่านี้เริ่มมีวางขายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตในซาอุฯ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้าง LuLu hypermarket หรือห้าง Manuel Market ซึ่งมีสินค้าเหล่านี้วางขายและอาหารไทย ผลไม้ไทยสินค้าอาหารกระป๋อง ถือว่าเป็นอาหารยอดนิยมของคนที่ซาอุฯ และคิดว่าในอนาคตซาอุฯ จะเป็นประตูในการกระจายสินค้าไทยไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลางรวมทั้งกลุ่ม GCC กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศซาอุดีอาระเบียต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและไทย เพื่อไปร่วมโครงการใหญ่ ที่ท่านมกุฎราชกุมารของซาอุฯ ทรงเปิดตัว คือ โครงการ Saudi Vision 2030 ดึงนักลงทุนจากทั่วโลก ขณะที่ไทยเองก็มีความสนใจดึงนักลงทุนจากซาอุฯ ลงทุนที่ประเทศไทยเช่นกัน เพราะมีหลายภาคส่วนที่ต้องการนักลงทุนจากซาอุฯ โดยสามารถร่วมมือได้ทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการผลิตอื่นๆ ด้วย
นายจุรินทร์ ยังได้กล่าวบนเวที Saudi-Thai Business Forum ว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาความท้าทายที่สำคัญยิ่ง คือความมั่นคงด้านพลังงาน และด้านอาหาร จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่ทั้ง 2 ประเทศ จะเร่งกระชับความเชื่อมโยง เพื่อเสริมศักยภาพของกันและกัน ในการเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นความเข้มแข็งร่วมกัน โดยซาอุฯ จะเป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงานให้ไทย ส่วนไทยจะเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้ซาอุดีอาระเบีย
นายจุรินทร์ ได้กล่าวเชิญชวนนักลงทุนชาวซาอุฯ มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศไทยทำกับ 18 ประเทศ 14 ฉบับ อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ฮ่องกง เปรู ชิลี
นอกจากนี้ มีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และจะทำเพิ่มเติม เช่น ความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และสหราชอาณาจักร (UK) ไทยยังมีศักยภาพเป็นประตูการค้าสู่อาเซียน ขณะที่ซาอุฯ เป็นประตูการค้าสู่ตะวันออกกลาง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 65)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ซาอุดีอาระเบีย