นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ประสบอุทกภัย บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.กรุงเทพมหานคร และ จ.พระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อสั่งการของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ภายหลังมีการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันนี้ สทนช. ได้มอบหมายนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่ร่วมกับ กทม. ณ กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอกน้อย เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของสำนักการระบายน้ำ กทม. ในการเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยกระสอบทราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนกำลังพลจากกระทรวงกลาโหม ตามข้อห่วงใยของพล.อ. ประวิตร ซึ่งได้กำชับเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาแนวฟันหลอบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
สทนช. ได้มีการอำนวยการ ประสานงาน กำกับ ติดตาม การบริหารจัดการน้ำของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องการระบายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน และจำเป็นต้องบริหารจัดการทั้งในระดับพื้นที่และในภาพรวมของประเทศ โดยต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และพิจารณาถึงผลกระทบในทุกมิติ
“ปัจจุบัน สทนช. ได้รับข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งได้กำชับให้ประสานความร่วมมือในการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการระบายน้ำออกทั้งทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก รวมถึงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เชื่อมโยงทางผ่านน้ำที่มีในแต่ละจังหวัดออกไปสู่ทะเล ป้องกันระดับน้ำเพิ่มสูงจนส่งผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ สทนช. ได้มีการตั้งกลุ่มไลน์ 22 ลุ่มน้ำ โดยผู้แทนจากภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำได้ตลอด 24 ชม. เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างรวดเร็ว” นายสุรสีห์ กล่าว
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,678 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที โดยเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 30 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยเขื่อนเจ้าพระยาได้มีการปรับเพิ่มระบายน้ำให้อยู่ในอัตรา 1,579 ลบ.ม. ต่อวินาที จาก 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที
ด้านเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ได้มีการปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันไดมาตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. 65 โดยปัจจุบันระบายน้ำต่อเนื่องในอัตรา 240 ลบ.ม. ต่อวินาที เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างฯ สูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำให้เหมาะสมต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อยที่จุดควบคุมในเกณฑ์ที่เหมาะสม ขณะที่เขื่อนสิริกิตติ์ ได้ปรับลดอัตราการระบายลงจาก 3.97 ลบ.ม. ต่อวินาที เหลือ 2.45 ลบ.ม. ต่อวินาที
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ภาพรวมขณะนี้ พบว่า ระดับน้ำในพื้นที่หลายจังหวัดได้ลดลงและเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม บริเวณพื้นที่ อ.วารินชำราบ และอ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ยังคงมีสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำผ่านเครื่องมือต่างๆ จึงจะมีการพิจารณาความเหมาะสมสำหรับการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ
นอกจากนี้ ยังจะมีการพิจารณาจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคกลาง หลังคาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ อาจทำให้มีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่ง กอนช. จะมีการประเมินสถานการณ์น้ำ วิเคราะห์และคาดการณ์ เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการเฝ้าระวังต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 65)
Tags: ระบายน้ำ, สทนช., สุรสีห์ กิตติมณฑล