อนุสรณ์ชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกว่าเงินเฟ้อสูงจากราคาพลังงาน-อาหารถีบตัวขึ้น

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต่ำกว่าเงินเฟ้อของคณะกรรมการไตรภาคีนั้น เท่ากับ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นนั่นเอง โดยปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท ต่ำสุด 328 บาท นั้น คิดเป็นอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 5.02% เงินเฟ้อในเดือน ก.ค.ยังทรงตัวในระดับสูง เพิ่มขึ้น 7.61% แม้จะชะลอตัวลงจากเดือนก่อน

โดยปัจจัยมาจากราคาพลังงานและอาหารอยู่ในระดับสูง คาดการณ์ว่า แรงกดดันเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มอีกในระยะต่อไป จากราคาน้ำมันที่อาจกลับมาทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้จากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มเอเปคพลัส การขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยแพงจะทำให้อุปทานของอาหารและธัญพืชไม่เพียงพอต่อความต้องการและดันให้ราคาขึ้นสูงรอบใหม่ได้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 5% ถือว่าไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพและจะกลับมาซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กลับไปทะลุระดับ 90% ต่อจีดีพีอีกครั้งหนึ่ง จะทำให้ครอบครัวรายได้น้อยต้องก่อหนี้เพิ่ม การก่อหนี้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในภาวะค่าครองชีพแพงเช่นนี้จะถูกซ้ำเติมโดยดอกเบี้ยขาขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด ขอให้ดูการตัดสินใจของธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อมากเกินไป เศรษฐกิจไทยช่องว่างระหว่างระดับของผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (Actual GDP) กับระดับผลผลิตที่ระดับศักยภาพเรียกว่า ช่องว่างการผลิต (Output Gap) ยังติดลบมาก อุปสงค์ของประเทศขยายตัวไม่สูงมากนักแม้นกระเตื้องขึ้น ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงและระดับอุปสงค์ยังต่ำกว่าระดับความสามารถการผลิตของประเทศ (Excess Supply) หรือการใช้ ศักยภาพในการผลิตไม่เต็มที่ ส่งผลให้ Output Gap เป็นลบ

การเปิดกว้างของเศรษฐกิจไทยหากเกิดเงินเฟ้อจากแรงดึงอุปสงค์ขึ้น ความต้องการส่วนเกินสามารถถูกทดแทนได้ด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดลดการเกินดุลหรือขาดดุล คาดการณ์ว่า ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มขึ้น ฉะนั้นปัญหาเสถียรภาพราคาจากแรงดึงอุปสงค์จึงไม่ใช่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้

ทางด้านส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและเงินไหลออกก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลเกินไป ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้นไหลออกจากภาคการเงินเพราะดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเท่านั้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top