นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ร่วมกันบูรณาการการทำงานเพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญและรายได้หลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่ง ล่าสุดพบสัญญาณการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวของไทยชัดเจนขึ้น โดย 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทยมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 549 ราย ทุนจดทะเบียน 988.53 ล้านบาท โดยจัดตั้งเพิ่มขึ้น 169.12% จากปี 2564 ที่มีจำนวน 345 ราย และทุนเพิ่มขึ้น 225.90% หรือ 685.20 ล้านบาท จากปี 2564 จัดตั้ง 204 ราย ทุนจดทะเบียน 303.33 ล้านบาท
นับถึงวันที่ 31 ก.ค.65 มีธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 11,891 ราย คิดเป็น 1.40% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 43,008.12 ล้านบาท คิดเป็น 0.21% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ ส่วนใหญ่ 44.39% ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 5,278 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 23,176.56 ล้านบาท (53.89%) รองลงมา คือ ภาคใต้ จำนวน 2,748 ราย (23.11%) ภาคกลาง 1,461 ราย (12.29%) ภาคตะวันออก 1,024 ราย (8.61%) ภาคเหนือ 784 ราย (6.59%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 401 ราย (3.37%) และภาคตะวันตก 195 ราย (1.64%)
ส่วนภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจฯ นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 37,484.90 ล้านบาท (87.16%) รองลงมา คือ จีน ทุน 1,115.67 ล้านบาท (2.59%) เกาหลีใต้ ทุน 528.45 ล้านบาท (1.23%) อินเดีย ทุน 445.10 ล้านบาท (1.03%) และสัญชาติอื่น ๆ ทุน 3,434.00 ล้านบาท (7.99%)
ขณะที่ภาพรวมผลประกอบการปี 2563-2564 มีแนวโน้มรายได้ปรับตัวลดลง โดยรายได้รวมปี 2562 มีจำนวน 123,788.53 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 36,619.46 ล้านบาท ลดลง 70.42% จากปีก่อน ปี 2564 มีรายได้รวม 14,251.94 ล้านบาท ลดลง 61.08% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามคาดว่า ผลประกอบการรวมของปี 2565 น่าจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและท่องเที่ยวได้อย่างปกติมากขึ้น อีกทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น นโยบายเราเที่ยวด้วยกันที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก ค่าอาหาร และค่าตั๋วเครื่องบิน มาตรการการเปิดประเทศที่เพิ่มความสะดวกในการเข้าประเทศมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว จึงถือเป็นโอกาสของธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่จะกลับมาฟื้นตัวตามสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ช่วง 7 เดือนแรกที่มีจำนวนสูงกว่า 4 ล้านคน
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หมุนเวียนท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวจึงสามารถเลือกช่วงเวลาท่องเที่ยวได้ตามความชอบของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูร้อนเป็นฤดูของการท่องเที่ยวทะเล ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของการท่องเที่ยวภูเขา เช่น ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการจัดกิจกรรมและเทศกาลหรืองานประเพณีที่น่าสนใจทั่วประเทศตลอดปี ซึ่งดึงดูดได้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
“ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยบวกให้แก่ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่สามารถจัดโปรแกรมนำเที่ยวได้หลากหลายตามความต้องการของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาว ผ่านการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดรับกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น” นายสินิตย์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 65)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ท่องเที่ยว, สินิตย์ เลิศไกร