นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ชี้แจงกรณีที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ นำรายชื่อ 106 ส.ส.และ ส.ว. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ไม่ติดใจที่มีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และมองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยส่วนตัวยังมั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งเป็นฉบับที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เป็นผู้ยกร่าง และผ่านการพิจารณาในชั้นของกรรมการกฤษฎีกาและ คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยรัฐสภาไม่ได้แก้ไข ไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
“ยืนยันว่า ในฐานะที่เคยทำหน้าที่เลขานุการ กมธ.ฯ ไม่มีมาตราใดของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขนั้นได้ยึดตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 พ.ศ.2564 มาตรา 91 ว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และมีจำนวน ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนที่ระบุว่าจะขัดกับมาตรา 93 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญนั้น ในรายละเอียดตนมองว่ามาตรา 93 และมาตรา 94 นั้นเป็นบทบัญญัติที่เป็นส่วนขยายของมาตรา 91 เดิม แต่เมื่อมาตรา 91 ถูกแก้ไขแล้ว ทั้ง 2 มาตรานั้นจึงไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง”
ส่วนกรณีที่ นพ.ระวี เลี่ยงยื่นตีความสูตรหาร 100 แต่เลือกให้ตีความเรื่องของวิธีการนั้น นายนิกร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นพ.ระวี เคยยื่นศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสูตรคำนวณแล้ว แต่ศาลระบุว่าไม่มีประเด็น ดังนั้นจึงไม่ยื่นซ้ำประเด็นเดิม ส่วนที่เลือกยื่นตีความวิธีการ ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 นั้น ตนมั่นใจว่าจะไม่ขัด เพราะทั้ง 2 มาตรานั้นไม่มีความเชื่อมโยง และไม่มีผลกระทบกับการเลือกตั้ง
ส่วนในประเด็นคำร้องการตราร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งไม่ถูกต้อง โดยระบุว่ามี 2 พรรคการเมืองจงใจใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อทำให้ร่างกฎหมายตกไป โดยยืนยันว่าการดำเนินการในที่ประชุมรัฐสภาด้วยการไม่ร่วมพิจารณาเพื่อยับยั้งร่างกฎหมายที่สมาชิกเห็นว่ามีเนื้อความไม่ถูกต้องนั้นเป็นเอกสิทธิของ ส.ส.ที่มีรัฐธรรมนูญคุ้มครอง และสมาชิกรัฐสภาสามารถทำได้
นายนิกร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเมื่อประธานสภาฯ ส่งคำร้องของสมาชิกรัฐสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณา เพราะเป็นกระบวนการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนด และหากศาลรัฐธรรมนูญต้องการสอบถามและต้องการเอกสารประกอบการพิจารณาตนฐานะอดีตเลขานุการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งและ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญยินดีชี้แจงและส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้พิจารณา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 65)
Tags: นิกร จำนง, พรรคชาติไทยพัฒนา, เลือกตั้งส.ส.