นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยพฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ว่า ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจเข้ามาลงทุน และหาผลตอบแทนจากมูลค่าที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้น โดยจำนวนผู้ครอบครองคริปโทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 64
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล พบว่า จำนวนบัญชีซื้อขายคริปโทฯ ปี 64 เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน และจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ปี 64 มีมูลค่าการซื้อขายคริปโทฯ ในไทยเฉลี่ยประมาณ 1.4 แสนล้านบาทต่อเดือน
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการลงทุนในตลาดคริปโทฯ ของคนไทย มีประเด็นที่น่ากังวล ดังนี้
1. ผู้ลงทุนในคริปโทฯ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างผลกำไรที่สูงในเวลาที่รวดเร็ว
2. 1 ใน 5 ของผู้ลงทุนในคริปโทฯ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคริปโทฯ น้อย และ 25% ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจลงทุน
3. มากกว่า 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ที่ลงทุนในคริปโทฯ ลงทุนเพื่อความสนุก บันเทิง และเข้าสังคม
4. นักลงทุนคริปโทฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถกำกับดูแลได้ จากพฤติกรรมข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การลงทุนเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน แต่ผู้ลงทุนต้องศึกษาหาความรู้ให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะสินทรัพย์ประเภทนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์มากกว่าประเภทอื่นมาก โดยความเสี่ยงที่สำคัญ คือ
1. ไม่มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการกำกับดูแลเรื่องการออกเสนอขายคริปโทฯ และคุ้มครองผู้ลงทุนในคริปโทฯ ที่ทำการซื้อ/ขาย ผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนในประเทศไทยได้
2. ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้น Stable coin บางชนิด) ทำให้เมื่อเกิดการด้อยค่า ผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่มีหลักประกันใดๆ เลย เช่น กรณีเหรียญ Terra Classic ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 3,903 บาท/เหรียญ ในเดือนเม.ย. 65 และตกลงมาเหลือเพียง 0.003 บาท/เหรียญ ในเดือนถัดมา
3. ตลาดคริปโทฯ ถูกชี้นำได้ง่าย โดยการเปลี่ยนแปลงของราคาคริปโทฯ เกิดขึ้นจากความต้องการที่ถูกชี้นำจากข่าวสาร แทนการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐาน (งบการเงิน และผลประกอบการ) และคริปโทฯ ยังสามารถปั่นราคาสินทรัพย์ (Pump and Dump) ได้ง่าย และควบคุมได้ยาก
4. ตลาดคริปโทฯ มีการหลอกลวง และการโกงหลายรูปแบบ อาทิ การหลอกให้ผู้ใช้กรอกรหัสผ่านลงในเว็บไซต์ปลอมและขโมยบัญชีผู้ใช้ไปใช้งาน หรือเพื่อขโมยเหรียญคริปโทฯ การชักชวนลงทุนจูงใจว่าสามารถทำกำไรได้แบบเกินจริง ขณะที่การ rug pull ที่เป็นการโกงรูปแบบหนึ่ง เกิดจากการที่นักต้มตุ๋นทำทีว่ามีการพัฒนาโครงการเหรียญคริปโทฯ ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพื่อต้องการหลอกล่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายก่อนที่จะเทขายทิ้ง หรือฉ้อโกงเงินในระบบและส่งผลให้เหรียญนั้นไร้มูลค่า
ดังนั้น ผู้ต้องการลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ตลอดจนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้านหากต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะเดียวกัน ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีและเลือกลงทุนอย่างไม่ประมาท เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเช่นในต่างประเทศที่มีการฆ่าตัวตายจากการสูญเงินลงทุนในคริปโทฯ แล้วกว่า 22 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 65)
Tags: Cryptocurrency, คริปโทเคอร์เรนซี, ดนุชา พิชยนันท์, สกุลเงินดิจิทัล, สภาพัฒน์, สศช.