นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.65 มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.3% จากเดือน ก.ค.64 จากตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 10.7-11% ทำให้การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 11.5% ที่มูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่
- ความต้องการอาหารจากทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้สินค้าเกษตรอาหารยังไปได้ในการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกเติบโตได้ดี
- การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และการผ่อนคลายประเทศให้มีการท่องเที่ยวทำให้สินค้าบางส่วน เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การเดินทางขยายตัวได้ดีขึ้น
- ค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลง ความหนาแน่นและความล่าช้าลดลง ในการขนส่งบริเวณท่าเรือสำคัญของโลก ที่ทำให้ระบบการขนส่งคล่องตัวไม่เป็นอุปสรรคในการส่งออก
- การที่ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดโลกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร
ส่วนการนำเข้าในเดือน ก.ค.65 มีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 23.9% จากเดือน ก.ค.64 ทำให้การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกมีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.4%
ขณะที่ดุลการค้าในเดือน ก.ค.65 ขาดดุล 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลรวม 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดพลังงาน
“ที่ขาดดุลค่อนข้างสูง เป็นเพราะมีการนำเข้าน้ำมัน ทองคำ เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตเพื่อส่งออกสินค้า ตราบใดที่ราคาน้ำมัน ทองคำ ยังแพง โอกาสขาดดุลมีอยู่ เพราะต้องนำเข้าแพงขึ้น”
โดยการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร เดือน ก.ค.65 มีมูลค่า 2,339.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง – 0.3% หดตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากปีนี้ผลไม้สดซึ่งเป็นตัวส่งออกสินค้าเกษตรหลักหมดฤดูเร็วกว่าหลายปีที่ผ่านมา จึงไม่มีของส่งออก
สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 38.1% ขยายตัว 17 เดือนต่อเนื่อง สินค้าสำคัญ เช่น น้ำตาลทราย ขยายตัว 258.8%, ไอศกรีมเป็นดาวรุ่งตัวใหม่ ขยายตัว 34.2% ขยายตัว 26 เดือนต่อเนื่อง, อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 25.4% ขยายตัว 35 เดือนต่อเนื่อง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 17.3% ขยายตัว 15 เดือนต่อเนื่อง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 16.4% ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม 0.1% ขยายตัว 17 เดือนต่อเนื่อง สาเหตุที่ขยายตัวลดลงเพราะเกิดภาวะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นผลกระทบกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทั้งโลก กระทบจากไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่คลองตลาดประมาณ 40% ของโลกกำลังประสบปัญหากับจีน
ตลาดที่ขยายตัวดี 10 อันดับแรกในเดือน ก.ค.65 ได้แก่ 1.เกาหลีใต้ (+39.4%) 2.ตะวันออกกลาง (+27.4%) 3.แคนาดา (+27.3%) 4.CLMV (+24.2%) 5.อาเซียน(5) (+21.3%) 6.เอเชียใต้ (+21.1%) 7.ทวีปออสเตรเลีย (+20%) 8.สหรัฐราชอาณาจักร (+17.2%) 9.สหภาพยุโรป (+8.1%) และ 10.สหรัฐอเมริกา (+4.7%)
สำหรับช่วงเวลา 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจัดทำแผนงานที่จะเพิ่มยอดส่งออก ซึ่งจะเพิ่มการทำกิจกรรรมอีก 345 กิจกรรม จากเดิมที่มีอยู่ 185 กิจกรรม รวมเป็น 530 กิจกรรม โดยในวันที่ 14 ก.ย.65 จะประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกอีกครั้งเพื่อซักซ้อมแผน และมอบนโยบายเพิ่มเติม
“เป้าเดิม 4-5% แต่ตอนนี้ 7 เดือนทำได้แล้ว 11.5% แต่ทั้งปี คิดว่าต้องรอประเมินอีก 1-2 เดือน หลังมีการเพิ่มกิจกรรมเข้าไป แต่เชื่อว่าเกิน 4-5% แน่”นายจุรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ตนจะนำคณะเดินทางไปเจรจาการค้ากับประทศซาอุดิอาระเบียและมองโกเลีย เพื่อเร่งเพิ่มตัวเลขส่งออกและเป็นการเปิดตลาดใหม่
ส่วนความคืบหน้าการจัดทำมินิเอฟทีเอกับเมืองต่างๆ ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 5 เมือง และกำลังดำเนินการอีก 8 เมืองในประเทศเกาหลีใต้ 1 เมือง จีน 2 เมือง และอินเดีย 5 เมือง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 65)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย