บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) แก่ บมจ. เอสซีบี เอกซ์ หรือ SCBX ที่ “BBB” โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ยังได้ให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) แก่บริษัทที่ “bbb” และอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ “bbb-“
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
– อันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของธนาคารลูก: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBX พิจารณาจาก โครงสร้างเครดิตโดยรวมของกลุ่ม ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทลูกหลักของกลุ่ม ซึ่งคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) (‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/bbb) ฟิทช์คาดว่า SCBX จะสามารถรักษาอัตราส่วน Double Leverage ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 110% ได้ในระยะปานกลาง นอกจากนี้ SCBX ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ Basel III ในด้านเงินกองทุนและอัตราส่วนการดำรงค์สินทรัพย์สภาพคล่อง ฟิทช์ยังคาดว่าการบริหารสภาพคล่องของบริษัทจะมีความรอบคอบ (prudent) และสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤต (stress scenario)
– ธนาคารลูกยังคงมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม: ฟิทช์คาดว่า SCB จะยังคงเป็นบริษัทลูกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มในระยะสั้นและระยะปานกลาง และความเสี่ยงที่ SCB และ SCBX จะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก นอกจากนี้อันดับเครดิตของ SCBX ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการผสานการดำเนินงานกับ SCB อย่างใกล้ชิด ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนการถือหุ้นเกือบทั้งหมดในธนาคาร (99.06%) รวมถึงการใช้ชื่อและแบรนด์ที่ค่อนข้างคล้ายกัน
– อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ SCBX ที่ “F3” เป็นตัวเลือกระดับต่ำกว่าที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว เนื่องจากฟิทช์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงสร้างการระดมเงินทุนและสภาพคล่อง (funding and liquidity profile) ของกลุ่มยังไม่สอดคล้องกับเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตสำหรับตัวเลือกที่ระดับสูงกว่า
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
– อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBX จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่คล้ายกับการเปลี่ยนแปลงในการประเมินโครงสร้างเครดิตเฉพาะของกลุ่ม (group’s standalone credit profile) ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารลูก ซึ่งคือ SCB ดังนั้นการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB จะส่งผลกระทบในลักษณะเดียวกันต่ออันดับเครดิตของ SCBX
– การลดลงของสัดส่วนของ SCB ต่อโครงสร้างเครดิตของกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลให้ต้องทบทวนแนวทางการพิจารณาความแตกต่างของอันดับเครดิตระหว่าง SCBX และ ธนาคารลูกหลักของกลุ่ม ซึ่งคือ SCB ตัวอย่างเช่น การที่สัดส่วนขนาดสินทรัพย์ของ SCB ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 75% เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของกลุ่มเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง อาจบ่งชี้ได้ว่าความเสี่ยงจากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจธนาคารเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องทำการทบทวนแนวทางการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทโฮลดิ้งใหม่ เนื่องจากอาจมีความไม่ชัดเจนว่าความเสี่ยงที่ธนาคารและบริษัทโฮลดิ้ง จะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันเช่นเดิมหรือไม่
– การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน Double leverage ที่สูงกว่า 120% หรือการปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องทั้งในระดับกลุ่มหรือเฉพาะตัวบริษัทเอง อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระหว่าง SCBX กับ SCB มีความแตกต่างกันมากขึ้นได้
– อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ SCBX อาจถูกปรับลดอันดับลงเป็น “B” หากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของบริษัทถูกปรับลดอันดับลงไปต่ำกว่า “BBB-“
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
– การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBX ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน ทั้งนี้หากไม่มีการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB โอกาสที่อันดับเครดิตของ SCBX จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับนั้นไม่น่าเกิดขึ้นได้ เนื่องจากอันดับเครดิตของ SCBX อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของ SCB แล้ว
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
ความสำคัญต่อระบบของกลุ่ม: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCBX มีปัจจัยสนับสนุนมาจากระดับความสำคัญของกลุ่มที่มีต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากของกลุ่ม (โดยผ่าน SCB) ที่ประมาณ 15% นอกจากนี้ ธปท. ยังกำกับดูแลทั้ง SCBX และ SCB ในลักษณะรวมกลุ่ม โดย SCBX ยังต้องปฏิบัติตามเกณฑ์สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (D-SIB) เช่นเดียวกันกับ SCB และอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลยังพิจารณาถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของไทย
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCBX ต่ำกว่าอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCB อยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ารัฐบาลอาจจะให้ความสำคัญมากกว่าในการช่วยเหลือสนับสนุนแก่ SCB เนื่องจาก SCB มีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินมากกว่า เนื่องจากเป็นธนาคารที่รับเงินฝากและเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงิน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับได้ หากความสามารถในการให้การสนับสนุนของรัฐบาลปรับตัวด้อยลง ซึ่งอาจบ่งชี้ได้จากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย อีกทั้งอันดับเครดิตยังอาจจะถูกปรับลดอันดับได้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือแก่ SCBX และ/หรือ SCB มีการปรับตัวลดลง ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ระดับความสำคัญต่อระบบการเงินในประเทศของทางกลุ่มมีการปรับตัวด้อยลง หรือหากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจธนาคารของกลุ่ม มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลให้โครงสร้างของกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป หรือหาก มีการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎเกณฑ์ที่ส่งผลให้รัฐบาลมีโอกาสที่จะให้การสนับสนุนแก่ SCBX ในระดับที่ลดลง เมื่อเทียบกับ SCB แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจเกิดขึ้นได้หากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ซึ่งจะบ่งชี้ว่ารัฐบาลมีความสามารถเพิ่มขึ้นที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศและสถาบันการเงิน ทั้งนี้การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะต้องพิจารณาว่าโอกาสของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนนั้นยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCBX อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับได้ หากฟิทช์ประเมินแล้วเห็นว่ากฎเกณฑ์ในการแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่เกิดปัญหาด้านสถานะทางการเงิน (resolution scenario) สำหรับ SCB และ SCBX ไม่น่าจะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น หากมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า SCBX มีนัยสำคัญต่อระบบภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วยตัวบริษัทเอง (โดยไม่พิจารณารวม SCB)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 65)
Tags: SCBX, ฟิทช์ เรทติ้งส์