ADB ชี้วิกฤตโควิดทำภูมิภาคเอเชียล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายลดความยากจน

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานในวันนี้ระบุว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การต่อสู้กับความยากจนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องหยุดชะงักเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และอาจทำให้ภูมิภาคแห่งนี้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากกว่าเดิมในการที่จะหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน

รายงาน “The Key Indicators for Asia and the Pacific 2022” ของ ADB ระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้มีแนวโน้มที่จะช่วยลดปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงลงสู่ระดับที่น่าจะบรรลุได้ในปี 2563 หากไม่เกิดโรคโควิด-19 แพร่ระบาด โดยนิยามของความยากจนขั้นรุนแรงในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์/วัน

ADB ยังระบุด้วยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอุปสรรคขัดขวางแนวโน้มการลดความยากจนในเอเชียแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานอย่างมีนัยสำคัญ และจำกัดการเข้าถึงเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม

ทั้งนี้ ADB เตือนว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจเผชิญกับความล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งหมายความว่าภูมิภาคแห่งนี้อาจประสบกับความล่าช้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการบรรลุเป้าหมายการลดความยากจน, ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการปรับปรุงแรงขับเคลื่อนทางสังคม

ADB คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ความยากจนขั้นรุนแรงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 1% ในขณะเดียวกัน ประชากรประมาณ 25% มีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายการก้าวขึ้นสู่ชนชั้นกลางเป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ดี ADB ระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากความหลากหลายของแรงขับเคลื่อนทางสังคม และความไม่แน่นอนในด้านอื่น ๆ เช่น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะ Stagflation (ภาวะเงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้นในเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว), ข้อพิพาทระหว่างบรรดาประเทศมหาอำนาจของโลก, ความไม่มั่นคงทางอาหารที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และราคาพลังงานพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top