กรมบัญชีกลาง-KTB เปิดตัว e-GP ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยโครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future ถือเป็นความร่วมมือสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเข้ามาเป็นผู้ค้าภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และ Startup จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลจากภาคธนาคารได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น อันจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนและนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลาง ได้ให้ความสำคัญและผลักดันในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมาตรฐาน และความเชื่อมั่นในการให้บริการของกรมบัญชีกลางมาอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย (KTB) ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยเพิ่มความโปร่งใสและปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลเสนอราคา และมีการนำเทคโนโลยี Smart Contract มาควบคุมและเสริมสร้างระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ใดเข้าถึงข้อมูลการเสนอราคาได้ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาเสนอราคา

นอกจากนี้ ยังได้นำระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” มาช่วยยืนยันตัวตนผู้ค้าภาครัฐ เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นผู้ค้าภาครัฐ เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อมุ่งหวังให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุด มีความคล่องตัว รวดเร็ว และทั่วถึง สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการติดตามเร่งรัด การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อันจะทำให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

โครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับธุรกิจ SMEs ที่เป็นผู้ค้าภาครัฐกว่า 3 แสนราย ให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาคธนาคารมากขึ้น โดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมของระบบ e-GP ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการเป็นคู่สัญญาของผู้ประกอบการที่ได้รับงานภาครัฐ เข้าสู่ระบบมาตรฐานกลาง อย่าง Smart Financial and Payment Infrastructure (SFPI) หรือทปัจจุบันใช้ชื่อว่า PromptBiz ที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการทำธุรกรรมการค้าในรูปแบบดิจิทัล และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยด้วยเทคโนโลยี และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้อย่างทัดเทียม

ดังนั้น โครงการนี้ถือเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ โดยมุ่งพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ และยกระดับการทำธุรกรรมการค้ากับภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร

“โครงการ e-GP Transformation เป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยเพิ่มความโปร่งใสและปลอดภัยให้กับขั้นตอนการเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding โดยประเมินว่าบล็อกเชนจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากขึ้น และจะช่วยประหยัดงบประมาณจากการเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding ได้ประมาณ 10% จากแต่ละปีการเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding อยู่ที่ราว 6.4 แสนล้านบาท” อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุ

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า กรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงการคลังในทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และโปร่งใส ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นในทุกวัน ตามยุทธศาสตร์ X2G2X ของธนาคาร

โดยธนาคารได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง พัฒนาโครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมติดปีกธุรกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต ด้วยโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านโครงการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ต่อยอดเชื่อมโยงกับ PromptBiz สนับสนุนการทำธุรกรรมการค้าให้เป็นดิจิทัลแบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจ เข้ากับข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงิน และระบบภาษีของภาครัฐ แก้ Pain Point การทำธุรกิจแบบเดิมที่ใช้เอกสารกระดาษ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ ผ่าน Digital Supply Chain Finance

“ธนาคาร พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs สร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายผยง ระบุ

ทั้งนี้ PromptBiz เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่นำเอามาตรฐานกลาง ISO 20022 มาใช้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกรรมทางการค้าผ่านวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ร่วมกันพัฒนาระบบ PromptBiz ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนเอกสารทางการค้า การชำระเงิน และการวิเคราะห์การให้สินเชื่อ เป็นไปตามแผนภูมิทัศน์ด้านการชำระเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทยทางด้าน Open Infrastructure และแผนยุทธศาสตร์ของภาคธนาคารไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 65)

Tags:
Back to Top