นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งในวาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับพิจารณาภายในวันที่ 24 ส.ค.หรือไม่ รวมถึงไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร เพราะไม่มีผลอะไร
เมื่อประธานสภาฯส่งเรื่องไปแล้ว ศาลจะมีคำสั่งรับหรือไม่รับเรื่องได้พิจารณา ซึ่งหากศาลรับไว้พิจารณาก็จะมีคำสั่งตามมาอีกว่า รับโดยนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ กับรับโดยนายกรัฐมนตรีไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
หากรับไว้พิจารณาและให้นายกฯ หยุดปฎิบัติหน้าที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็จะปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทน ขณะที่ ครม.ยังคงสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องกลัวว่าการปฏิบัติงานในช่วงดังกล่าวจะเป็นโมฆะ เพราะไม่ว่าวันไหนศาลจะตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นหรือไม่พ้นตำแหน่ง ครม.ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมี ครม.ใหม่
ยกตัวอย่างว่า หากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ครม.ก็ยังคงต้องอยู่และทำหน้าที่ได้ต่อไป แต่หากศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีอีกตำแหน่งคือ รมว.กลาโหม ซึ่งไม่มีข้อกำหนดวาระ 8 ปี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหม อยู่ 20 ปีก็ได้ แต่นายกฯ อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ ดังนั้นหากตัดสินให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มานั่งเป็นลูกน้อง พล.อ.ประวิตร
และหากศาลมีคำวินิจฉัยให้ครบ 8 ปีแล้วพ้นจากตำแหน่ง ณ เวลานั้นก็ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็สามารถทำหน้าที่รักษาการได้ ส่วนควรหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะคิดอย่างไร แต่ไม่ใช่เรื่องยากลำบาก เพราะเพียงแค่ไม่กี่วัน เนื่องจากประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถสรรหานายกฯ คนใหม่ได้ภายใน 3 วัน 7 วัน
กรณีศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย แต่ไม่มีคำสั่งใด ๆ เลย แต่สุดท้ายมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากนายกฯ ระหว่างวันที่ 24 ส.ค.65 จนถึงวันที่ศาลสั่ง มติ ครม. และการสั่งการต่างๆ จะมีผลอะไรหรือไม่นั้น นายวิษณุ ยืนยันว่า ทุกอย่างจะสมบูรณ์หมด ยกตัวอย่างอีกครั้งว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ เสียชีวิต ครม.ก็ยังคงอยู่และที่ทำไปทั้งหมดก็ไม่โมฆะ หรือหากยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ ก็พ้นจากตำแหน่ง แต่ครม.ก็ยังคงอยู่ และปฎิบัติหน้าที่ไปตามเดิม ทุกอย่างก็ไม่ได้โมฆะ
ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประวิตร ขึ้นมาปฎิบัติหน้าที่แทน ต้องมีคำสั่งอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องมีคำสั่งและย้อนไปถึงมติเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยลงนามในคำสั่งไว้ว่าหากนายกฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนคนที่ 1 หลังจากนั้นจะมีการออกคำสั่งโดยอ้างคำสั่งดังกล่าวนี้ ให้ พล.อ.ประวิตรทำหน้าที่แทน โดยผู้ที่จะแจ้งรายละเอียดให้ ครม. รับทราบและปฏิบัติตาม คือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวว่า ในการประชุม ครม. พรุ่งนี้จะชี้แจงรายละเอียดดังกล่าวให้กับที่ประชุมได้รับทราบ เพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่คณะรัฐมนตรีต้องรู้และไม่เกิดความสับสน
แต่ในขั้นนี้รัฐบาลคงยังไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวชี้แจงศาล เพราะยังไม่รู้ว่าศาลจะสั่งให้ใครเป็นผู้ชี้แจง อาจเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล หรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
“ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะบอกว่ารัฐบาลไม่ต้องมีใครชี้แจง เพราะศาลทราบก็จบไปถือเป็นเรื่องของศาล หรือหากศาลคิดว่าเพื่อความเป็นธรรมให้รัฐบาลตอบ เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวพันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว แต่เป็นท่าทีของรัฐบาลด้วย ดังนั้น ครม. ก็ต้องตอบ และทางสุดท้ายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง เจ้าตัวก็ต้องไปตอบ ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางเหล่านี้ก็ได้ ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าต้องเตรียมอะไร”
นายวิษณุ ยอมรับว่า มีรายละเอียดคร่าวๆ ที่เตรียมไว้แล้ว หากศาลสั่งให้ชี้แจงก็พร้อม แต่อาจต้องขอเวลา 2-3 วันในการจัดพิมพ์เอกสาร ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียดว่าจะชี้แจงประเด็นใด เพราะอาจเสียรูปคดี
หากศาลสอบถามมาแล้วจะต้องหารือกับที่ประชุม ครม.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าศาลจะถามใคร เพราะหากถามนายกรัฐมนตรีโดยตรงก็ไม่ต้องแจ้ง ครม. แต่หากศาลถาม ครม. ทางเลขาฯ ครม. จะเป็นผู้หารือในที่ประชุม ครม. แต่ก็ยังไม่ทราบว่าศาลจะถามใคร และอาจจะไม่ถามใครเลยก็ได้ ศาลสามารถตัดสินเองได้ก็เป็นได้
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาควบคู่กับสภาฯ นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่มีความแตกต่าง และเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการที่สภาฯ ส่งเรื่องตีความมาจากการเข้าชื่อสมาชิก 48 คนเป็นไปตามมาตรา 82 ขณะที่ กกต.สามารถใช้มาตรา 170 ส่งเรื่องโดยไม่ผ่านประธานสภา
“การส่งควบคู่กันถือเป็นการดี เนื่องจาก กกต.จะได้ศึกษารายละเอียดต่างๆ มากกว่าฝ่ายค้านที่จ้องเพียงแต่จะให้นายกฯ ออกจากตำแหน่ง ดังนั้นต่างฝ่ายก็มีสิทธิส่งเรื่อง แต่ กกต.จะพิจารณาด้วยความรอบคอบกว่า”
นายวิษณุ กล่าว
สำหรับกระแสกดดันจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวชุมนุมนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขอให้ไปสอบถามกับผู้เกี่ยวข้อง เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีการกดดัน แต่ไม่รู้กดดันใคร ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ฝากอะไรเป็นพิเศษในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในวันนี้ และยังเห็นทำงานแข็งขันในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 65)
Tags: การเมือง, ชวน หลีกภัย, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วิษณุ เครืองาม, ศาลรัฐธรรมนูญ