ในช่วงตลาดหมีครั้งนี้ก่อวิกฤตและเหตุการณ์เกี่ยวกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากมาย เช่น กองทุนล้มละลาย กระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกเป็นโดมิโน่ ไม่เว้นกรณี Zipmex ในประเทศไทยก็ได้รับผลมาจากวิกฤติครั้งนี้เช่นเดียวกัน ทำให้นึกถึงกรณี Mt.Gox ซึ่งเคยเป็นกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ต้องปิดตัวลงเพราะถูกแฮกเกอร์ขโมย Bitcoin จากระบบไปถึง 650,000 เหรียญ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ Mt. Gox ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการในที่สุด
ในคดีล้มละลายของประเทศญี่ปุ่นนั้น (Mt. Gox ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น) ทรัพย์สินของ Mt.Gox จะถูกยึดอายัด รวมถึง Bitcoin ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกองทรัพย์สินของลูกหนี้ล้มละลาย (Bankruptcy Estate) เพื่อที่จะนำออกขายทอดตลาดและนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ต่อไป
โดยหลักแล้ว จากที่เริ่มกระบวนการพิจารณาคดีล้มละลาย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง Private Key ที่ Mt. Gox ถืออยู่และย้ายไปยังบัญชีที่ถูกควบคุมโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอง หรือถูกควบคุมโดยรัฐ และจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายหลังจากที่มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของ Mt.Gox ต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลประเทศญี่ปุ่นได้ออกคำสั่งให้ Mt.Gox เริ่มต้นประมวลแผนการฟื้นฟูกิจการส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายหยุดลง และ Mt.Gox ต้องดำเนินการไปตามแผนการฟื้นฟูกิจการนั้น ๆ ต่อไป โดยหลังระยะเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปีก็มีข่าวว่าผู้ใช้อาจได้รับเงินสด หรือ Bitcoin หรือ Bitcoin Cash คืน เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับผู้ใช้ Mt.Gox และผู้เสียหายจากกรณีอื่น ๆ ที่คาดหมายได้ว่า หากหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลตามอำนาจและตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นก็อาจช่วยบรรเทาความเสียหายได้ไม่มากก็น้อย โดยประเทศไทยก็มีกฎหมายล้มละลาย และฟื้นฟูกิจการที่มีการดำเนินการใกล้เคียงกันกับกฎหมายล้มละลาย และฟื้นฟูกิจการของประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว
สำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องท้าทายสำหรับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่ ก.ล.ต.ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายโดยตรง รวมถึงศาลและกรมบังคับคดี ที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง หากต้องดำเนินการในกรณีที่คล้ายคลึงกับกรณี Mt.Gox ซึ่งในอนาคตการดำเนินกระบวนการล้มละลายหรือฟื้นฟูกิจการกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการในกระบวนการล้มละลายหรือฟื้นฟูกิจการจะเข้ามาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้เสียหายหรือเจ้าหนี้ได้รับการเยียวยาไม่มากก็น้อยต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 65)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, Zipmex, คริปโทเคอร์เรนซี, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, สินทรัพย์ดิจิทัล