บวท.-กพท.เปิดตัวแอป OpenSky จัดจราจรทางอากาศสำหรับโดรน นำร่องพื้นที่ EEC

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System Ecosystem : UAS Ecosystem) เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ เชื่อมโยงระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สอดคล้องมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) โดยได้เริ่มโครงการพัฒนาระบบการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ (UAS Traffic Management : UTM) ในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพฯ (Bangkok Control Zone) รัศมี 35 ไมล์รอบกรุงเทพฯ (หรือประมาณ 65 กิโลเมตร จากสนามบินดอนเมือง) ด้วย Application “OpenSky” ซึ่งเปิดให้ผู้ควบคุมอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนได้ทดลองใช้ Application เพื่อขออนุญาตก่อนการบินโดรน ในพื้นที่นำร่องดังกล่าว

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากมติ กบอ. ที่ได้มอบหมายให้ บวท. เดินหน้า พัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ บริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด (Delv Aerospace) เพื่อวางพื้นฐานการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ หรือ UTM อย่างเป็นระบบ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ควบคุมอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนแต่ละประเภทได้ใช้ Mobile Application ในการส่งคำขออนุญาตทำการบินโดรนตามขั้นตอน กฏระเบียบและเงื่อนไขของหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ที่ขอทำการบินโดรน รวมถึงระบบจะส่งข้อมูลการบินโดรนที่ได้รับอนุญาตแล้วไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่ง บวท. ร่วมกับ กพท. จะทดลองใช้ Application “OpenSky” ในพื้นที่นำร่อง Bangkok Control Zone เขตพื้นที่รัศมีประมาณ 65 กิโลเมตร จากสนามบินดอนเมือง

ทั้งนี้ กพท. จะออกประกาศ การใช้งานระบบอย่างเป็นทางการ คาดว่าภายในเดือนกันยายน 2565 นี้ และ บวท. จะขยายการให้บริการ Application “OpenSky” ไปทั่วประเทศในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ บวท. ได้เตรียมการเพื่อพัฒนาระบบการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ หรือ UTM ในพื้นที่ ECC ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบห้วงอากาศเพื่อให้เกิดการใช้งานโดรนได้ครบทุกมิติ อาทิ ด้านการเกษตร การถ่ายภาพ การสำรวจ รวมถึงการขนส่งสินค้า และการรับส่งผู้โดยสาร ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งจะขยายศักยภาพต่อยอดในด้านอื่น ๆ พร้อมเดินหน้าวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระบบการเดินอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top