นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นอกจากสถาบันการเงินแล้ว ปัจจุบันประชาชนนิยมกู้เงินจากช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะการกู้เงินด่วนแบบออนไลน์ตามแอปพลิเคชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ รวมถึงแอปพลิเคชันกู้เงินที่สามารถปล่อยเงินกู้ง่ายเพราะมีเงื่อนไขน้อย โอนเงินให้ได้ในทันที ซึ่งถึงจะมีรูปแบบการได้เงินที่สะดวกสบาย แต่ในทางกลับกัน แอปฯ เหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เหล่ามิจฉาชีพสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกให้เป็นหนี้ และล้วงข้อมูลเพื่อไปใช้ในทางผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้มีการโฆษณาชวนเชื่ออยู่มาก
ทางธนาคารแห่งประเทศไทย โดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) จึงได้ออกคำแนะนำ “กู้ออนไลน์ ต้องรู้ทันโจร” เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนยื่นกู้ออนไลน์ จะได้ไม่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หรือต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูงเกินจริง หรือการทวงถามหนี้โหด โดยก่อนจะตัดสินใจกู้ ขอให้พิจารณา ดังนี้
- แยกแยะแอปเงินกู้ หากเป็นแอปกู้เงินถูกกฎหมายจะให้เงินกู้เต็มจำนวนและคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่กำหนด หากเป็นแอปเงินกู้นอกระบบ ต้องระวัง! เพราะได้เงินไม่เต็มจำนวน แต่ต้องจ่ายคืนเต็ม พร้อมดอกเบี้ยและค่าปรับที่สูง มีระยะเวลาชำระคืนสั้น ทวงหนี้โหดแบบข่มขู่คุกคาม ส่วนแอปเงินกู้ปลอมนั้น จะหลอกให้เราโอนเงินไปก่อน อ้างเป็นค่าใช้จ่าย และยังหลอกให้โอนเรื่อยๆ แต่สุดท้ายไม่ได้ให้กู้จริง
- ไม่แน่ใจอย่างเพิ่งคลิก ให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการก่อนและโทรติดต่อสอบถาม สามารถตรวจสอบแอปเงินกู้ ในเว็บไซต์ของแบงก์ชาติ
- เลือกดาวน์โหลดแอปที่ปลอดภัย ป้องกันการแฝงไวรัสหรือมัลแวร์ที่จะมาล้วงข้อมูลส่วนตัว
- อย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อนกู้ เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อนชำระ และวิธีคืนเงินกู้
“ขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้ดีทุกครั้งก่อนตัดสินใจกู้เงิน เพราะอาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้โดยไม่รู้ตัว แนะประชาชนเช็กความน่าเชื่อถือของแหล่งกู้เงินจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ทุกคนต้องเป็นหนี้ท่วม และเสี่ยงกับการโดนล้วงข้อมูล” นางสาวรัชดาฯ ย้ำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 65)
Tags: lifestyle, รัชดา ธนาดิเรก, เงินกู้, แอปเงินกู้