ส.ว.ลงชื่อ 77 คน ชงประธานสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายพรรคการเมือง

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้ากรณีร่างกฎหมายพรรคการเมือง ว่า วานนี้ พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. เป็นตัวแทนของสมาชิกรัฐสภา จำนวน 77 คน ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา เรื่องขอให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งการยื่นหนังสือดังกล่าว สืบเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อรัฐสภาผ่านความเห็นชอบแล้ว รัฐสภาจะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ความเห็น

โดยรัฐสภาได้ส่งเรื่องไปให้ กกต. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ต่อมา กกต.ได้ให้ความเห็นมายังรัฐสภาในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 โดย กกต.มีมติ ไม่มีข้อทักท้วง ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 104 บัญญัติไว้ว่า ให้ประธานรัฐสภา ชะลอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไว้สามวัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ทั้งนี้ เมื่อประธานรัฐสภา รับเรื่องจากพลเอกสมเจตน์ และคณะแล้ว ประธานรัฐสภาจะดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์ของคำร้องว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งประเด็นที่ยื่น ระยะเวลาที่กำหนดไว้ และการตรวจสอบรายชื่อว่า ถูกต้องครบถ้วน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิก ตามข้อบังคับที่กำหนดไว้หรือไม่ ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภา จำนวน 727 คน ฉะนั้น 1 ใน 10 คือ 73 คน โดยคำร้องที่ยื่นมามีผู้ลงชื่อทั้งหมด 77 คน ครบตามกฎหมายกำหนด

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่ยื่นคำร้องผ่านประธานรัฐสภาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ตน และ ส.ว.จำนวนรวม 77 คน เป็นผู้ยื่นเรื่อง ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความได้แก่ 1.กรณีที่ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง แก้ไขเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิก โดยลดค่าบำรุงพรรครายปี จาก 200 บาท เป็น 20 บาท และแบบตลอดชีพ จาก 2,000 บาท เป็น 200 บาท ตนมองว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งออกแบบให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง และกำหนดให้เก็บค่าบำรุงพรรค นั้นเป็นความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมต่อพรรคการเมือง รวมไปถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมือง ดังนั้น การลดอัตราค่าสมาชิกพรรคดังกล่าวอาจเปิดช่องให้เกิดโอกาสที่มีผู้ออกเงินแทนและทำให้เกิดการครอบงำได้

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวด้วยว่า 2.ประเด็นการลดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่เดิมกำหนดความเข้มข้นห้ามบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองได้แก้ไขให้บุคคลที่มีมลทินสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ ถือว่าขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ป้องกันผู้ที่มีมลทินเข้าสู่การเมือง และ 3.การแก้ไขการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.(ไพรมารี่) เดิมที่กำหนใด้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนไปเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง แต่ถูกแก้ไขให้กรรมการสรรหาของพรรคเป็นผู้เลือกตัวแทนไปดำเนินการ ขณะที่กระบวนการไพรมารี่ของผู้สมัคร ส.สบัญชีรายชื่อ เดิมกำหนดให้การเรียงลำดับ จะมาจากคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคด้วยคะแนนสูงสุด ลดหลั่นไป แต่ถูกแก้ไขให้กรรมการสรรหาจัดลำดับได้เองถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

“กรณีที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น ถูกต้องและทำได้ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top