นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในงานประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค. 65 ภายใต้หัวข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์กับภาคี เชื่อมโยงกันกับโลก สู่สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ” นั้น ในส่วนของกรมการแพทย์ ได้รับมอบหมายในการนำเสนอนิทรรศการนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ล้ำสมัย และเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อผู้มารับบริการ และบุคลากรทางการแพทย์ ตอบสนองนโยบายของชาติ และความต้องการของประชาชน
โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูสุขภาพและเศรษฐกิจ ภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 เช่น นวัตกรรมตรวจคัดกรองโควิด 19 จากลมหายใจ (Volatile Exhale Breath Analysis: VEBA) ของ รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา โรงพยาบาลราชวิถี และ ดร.เธียร์สิทธิ์ นาสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ไม่ต้องเจ็บตัวในการแยงจมูกหรือเจาะเลือด และไม่ต้องใช้น้ำลาย โดยเป็นการวิเคราะห์ลมหายใจ เพื่อจำแนกกลิ่นที่แตกต่างกันของคนติดเชื้อกับคนไม่ติดเชื้อ
“พบว่ามีความไว (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) สูง สามารถรู้ผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ช่วยคัดแยกผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และลดโอกาสในการระบาดของเชื้อโควิด 19 ในวงกว้างได้ มีค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาท/คน” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมที่นำมาแสดงด้วยอีก คือ “เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากอะซิโตนในลมหายใจ (G-Breath)” ใช้ตรวจและบอกชนิดของเบาหวาน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่มีการพัฒนาออกแบบเซนเซอร์ เพื่อใช้ตรวจวัดก๊าซทั้ง 4 ชนิดที่ออกมาพร้อมกับลมหายใจ ได้แก่ อะซีโตน เอทานอล คาร์บอนไดออกไซด์ และ เมทิลไนเตรท ซึ่งก๊าซทั้ง 4 ชนิดนี้สามารถใช้เป็น biomarker ยืนยันภาวะของโรคเบาหวานได้มากกว่า 99%
รวมทั้งยังมีนวัตกรรมอื่นๆ เช่น การพิมพ์สามมิติ เพื่อช่วยการรักษาทางการแพทย์ นำโดย รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ และ นพ.ภัทร จุลศิริ โรงพยาบาลราชวิถี ช่วยทำให้การกำหนดตำแหน่งเพื่อผ่าตัด หรือฉายแสงมะเร็งมีความแม่นยำขึ้น ช่วยทำโมเดลการเรียนการสอนในโรคที่ไม่ค่อยพบ ทำให้มีประสบการณ์ในการรักษาผ่านแบบจำลอง เช่น โมเดลหัวใจในโรคที่หายาก, Precision cutting guide ในโรคมะเร็งช่องปาก, กะโหลกเทียม (Cranioplasty) และการทำเฝือกเฉพาะบุคคล
การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อวินิจฉัยการตีบของหลอดเลือดหัวใจจากภาพถ่ายสแกนภาวะเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี เป็นการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยการพยากรณ์โรคหลอดเลือดตีบจากการตรวจหัวใจเชิงปริมาณทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยเป็นโครงการร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลราชวิถี กับสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ระบบอำนวยความสะดวกในการจดบันทึกทางการแพทย์ โดย นพ.สิทธิ เชาวน์ชื่น โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูด แล้วแปลงเสียงให้เป็นข้อความอักษรอัตโนมัติ รองรับการใช้งานภาษาไทย ซึ่งซับซ้อนแตกต่างจากภาษาอังกฤษ ช่วยลดเวลาจดบันทึก ลดภาระหน้างานและค่าใช้จ่าย, และนวัตกรรมเวชสำอางกัญชา จากสถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาต้นแบบเวชสำอางด้านผิวหนังจากสารสกัดกัญชา (Nano-CBD) เช่น สบู่ ครีมบำรุงผิวเจลแต้มสิว เซรั่มบำรุงผม และสเปรย์บรรเทาอาการปวด โดยในบูธนิทรรศการมีบริการนวดบ่า-หลัง-ไหล่ สำหรับผู้ที่มาร่วมงานอีกด้วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นวัตกรรมเหล่านี้ เป็นนวัตกรรมเด่นของกรมการแพทย์ ที่มีการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำงาน การบริการ และการดูแลรักษาผู้ป่วยรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพและดีขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญคือลดการนำเข้าและสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ จึงเป็นนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงภายในงานประชุม APEC Health Week ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 65)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, สมศักดิ์ อรรฆศิลป์