นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณี นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ระบุว่าเตรียมเสนอ ศบค.ให้พิจารณาไม่ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุด 30 ก.ย.นั้นก็อาจจะเป็นได้ แต่การประชุมวันนี้ไม่ได้มีการเสนอเข้ามา เพราะหากไม่ต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็สิ้นสุดลง
ส่วน ศบค.จะอยู่หรือไปก็ได้ แต่โดยหลักก็ควรจะยุบ แต่อาจให้อยู่ตามอำนาจกฏหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่ลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ ศบค.ลง และส่งมอบให้กระทรวงสาธาณสุขจัดการ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อีก
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิดขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่นั้น คงไม่สามารถตอบได้ ต้องถามจากกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ซึ่งเป็นผู้ประเมินสถานการณ์ หากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับเดิม ซึ่งอำนาจส่งกลับคืนไปให้กระทรวงสาธารณสุข
ส่วน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ ครม.เคยเห็นชอบแล้ว ยังไม่ได้ประกาศใช้ เพราะต้องรอให้พิจารณาครอบคลุมกับโรคอุบัติใหม่ทุกชนิดก็เลยรั้งรอไว้ ไม่ได้เสนอเป็น พ.ร.บ.เข้าสภา และยังไม่ได้ออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้อ่านสถานการณ์ได้ชัดเจน
“สรุปก็คือพักเอาไว้ แต่ถ้าประกาศใช้ ก็จะไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไว้ใช้กับสถานการณ์อื่น เช่น ภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาเรายืมมาใช้ เพราะเราไม่มีกฎหมายอื่นใด แต่ก็พออนุโลมมาบังคับใช้กับโรคระบาดร้ายแรง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับเดิม ยังครอบคลุมในการดูแลหากสถานการณ์โควิดไม่รุนแรง แต่ถ้ารุนแรงก็จะไม่ครอบคลุม เพราะทุกกระทรวงจะปล่อยมือวาง เหลือแต่เพียงกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียว ซึ่งคงรับมือไม่ไหว
หากสถานการณ์เกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้ง สามารถย้อนกลับไปประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใหม่ได้อีก และหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ส่วนการยุบ ศบค.ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพราะเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการมีหรือไม่มี ศบค.ไม่ได้เชื่อมโยงกันทั้งหมด ถึงแม้จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังสามารถมี ศบค.อยู่ต่อไปได้ แต่อำนาจจะลดลง
นายวิษณุ ยืนยันว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะไม่เกี่ยวข้องกับการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค เพราะหากมีระบาดรุนแรงอยู่ก็ยังคงต้องประกาศใช้เช่นเดิม เมื่อไม่รุนแรงจึงเห็นว่าไม่ต้องใช้ และผู้นำ 21 ประเทศที่จะเดินทางมาร่วมประชุมก็มีการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน การจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เตรียมการสู่การเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่า การยกเลิกมาจากสถานการณ์โควิดที่เบาบางลง ดูได้จาก 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่มีการเปิดประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 65)
Tags: พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, วิษณุ เครืองาม, อุดม คชินทร, โควิด-19