หากพูดถึงวิกฤตของ Terra และ LUNA แน่นอนว่าทุกคนต้องไม่ลืมเหตุการณ์วันนั้นที่เหรียญ Stable Coin อย่าง UST หลุดเป๊ก (PEG) ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ถือเป็น Case Study ที่ทำให้สายคริปโทฯ รู้ซึ้งเลยว่า เหรียญ Stable Coin ไม่ได้ Stable เสมอไป
และตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นนาย Do Kwon เจ้าของโปรเจ็คต์สัญชาติเกาหลีก็หายหน้าไปจากวงการ สื่อต่าง ๆ พยายามติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ และแน่นอนว่าทางการเกาหลีใต้ก็พยายามติดต่อเขาเช่นกัน แต่ล่าสุด Do Kwon ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อสายคริปโทฯ ชื่อ Coinage.media เป็นคลิปความยาวกว่า 30 นาทีเผยแพร่ใน Youtube ซึ่งคอมเมนต์ต่าง ๆ ก็เดือดมากทีเดียว
หลายคนมองว่าในคลิปเหมือนมีการซักซ้อมกันมาก่อนว่าจะตอบว่าอะไร และผู้สัมภาษณ์ก็ไม่ได้ถามประเด็นที่หลายคนสงสัย ซึ่งภายในคลิป Do Kwon ก็ได้ชี้แจงว่าเขาเชื่อมั่นในบิทคอยน์มากเกินไป เขาน่าจะเอา Stable Coin ตัวอื่นมาค้ำ (Backed) เหรียญ UST ไม่ให้หลุด PEG และไม่เคยนึกมาก่อนว่าถ้าโปรเจ็คต์ล่มจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา
ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการคริปโทฯ ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติธุรกิจใหม่ในโลกคริปโทฯ อีก 1 ประเภท นั่นคือ “ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล” หรือที่ในวงการเรียกว่า Custodian หรือผู้ดูแล
ก.ล.ต. นิยามถึงหน้าที่ของ Custodian ได้แก่ การรับฝากหรือเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล และ การบริหารจัดการกุญแจเข้ารหัส (Cryptographic Key) หรือสิ่งอื่นใดที่ต้องเก็บรักษาเป็นความลับ เพื่อใช้อนุมัติการโอนหรือการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จหรือบางส่วน
และสำหรับใครที่ให้บริการในลักษณะนี้อยู่แล้วต้องรีบไปขอใบอนุญาต (License) กับทางสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เรียบร้อย ภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 11 ต.ค 65 ไม่เช่นนั้นก็จะถือว่ามีความผิดได้
หากเราพูดถึงบทบาทของ Custodian จะพบว่ามีความสำคัญมาก โดยหากแพลตฟอร์มใดถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมหาศาล เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าแพลตฟอร์มนั้นจะใช้การไม่ได้เมื่อใด เงินคริปโทฯ จะหายหรือไม่ ผู้รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Custodian) ที่เป็นบุคคลที่ 3 ก็จะเปรียบเสมือนคนกลางที่ถือครองสินทรัพย์ของเราให้ปลอดภัย โดยผู้นั้นไม่ได้มีส่วนได้เสียในธุรกรรมนั้น ๆ คือเป็นเพียงผู้ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลให้เรานั่นเอง
ล่าสุดทางสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้มีประกาศให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังสูงสุดในการลงทุนในโปรเจกต์ DeFi (Decentralized Finance) หรือที่เรียกกันว่า “การเงินแบบกระจายศูนย์”
หากดูช่วงที่ผ่านมา จะพบว่ามีโปรเจกต์ DeFi ทั้งไทยและเทศออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งการทำ Yield Farming ที่นำเหรียญไปเพิ่มสภาพคล่อง หรือไปฝากใน Pool แล้วได้รับผลตอบแทน หรือ Lending & Borrowing ที่เหมือนเรานำเหรียญของเราไปปล่อยกู้ หรือแม้แต่การ Leverage ที่ได้วงเงินไปเทรด มากกว่ามูลค่าเงินจริงที่เรามี สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในหมวดหมู่ของ DeFi ทั้งนั้น
ทาง ก.ล.ต.ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าโปรเจ็คต์ DeFi มีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความซับซ้อน หรือแม้แต่ด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม รวมไปถึงการเก็บรักษาสินทรัพย์ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสูง
และต้องยอมรับว่ามีโปรเจ็คต์ DeFi หลายอันที่เป็น Scam (หลอกลวง) หรืออาจจะมีปัญหา บางโปรเจ็คต์ยกเลิกการใช้งานแล้ว หรือไม่พัฒนาโปรเจ็คต์ตาม Roadmap ซึ่งโปรเจ็คต์ DeFi เหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. แต่อย่างใด
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “DeFi Thai Club” ได้รวบรวมโปรเจ็คต์ DeFi ของไทย ซึ่งจะเห็นว่ามีหลายโปรเจ็คต์ที่ปัจจุบันอาจจะไม่ได้มีการพัฒนาแล้ว ดังนั้น นักลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจก่อนการลงทุนในโปรเจ็คต์ DeFi ใดก็ตาม
แต่ถ้าเราดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว การลงทุนใน DeFi ที่สำนักงาน ก.ล.ต.ไม่รับรอง กับ การลงทุนใน Zipmex ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต.รับรอง อย่างไหนจะเสี่ยงกว่ากัน ?
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 65)
Tags: Cryptocurrency, CryptoShot, DeFi, Do Kwon, คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล