นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … กล่าวถึงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ว่า มีการประยุกต์กฎหมายมาจากทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ, พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ มาตรา 4 ที่กำหนดให้แยกกฎหมายเกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชงออกจากกัน โดยให้วัดจากปริมาณสารที่ทำให้มึนเมา คือ สารทีเอชซี (THC) ตามคณะกรรมการกัญชากัญชงกำหนด เช่น ทีเอชซี ไม่เกิน 1% ของช่อดอกเรียก กัญชง หากเกิน 1% เรียก กัญชา ซึ่งจะมีระดับการควบคุมไม่เหมือนกัน แต่จะมีการกำหนดปริมาณเท่าไร กติกาอย่างไร จะมีคณะกรรมการกัญชากัญชงเป็นผู้ดูแล
ส่วนการปลูกในครัวเรือนตามมาตรา 18 วรรค 1 ระบุว่า ผู้ใดประสงค์เพาะปลูกกัญชา กัญชง ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน กมธ.ได้เปลี่ยนความเห็นตามประชาชนว่า 10 ต้นไม่พอ จึงกำหนดไว้ที่ 15 ต้น
“อีสานโพล สำรวจพบว่าไม่เกิน 20 ต้น เห็นด้วย 62% เราจึงกำหนดปลูกในครัวเรือนเหลือไม่เกิน 15 ต้น และต้องจดแจ้ง ซึ่งจะจดแจ้งแล้วเสร็จใน 1 วัน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนใครจะปลูกกัญชงเพื่อเอาประโยชน์จากเส้นใยและใช้ในครัวเรือน ซึ่งเราคิดถึงชาวม้งที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ใช้ในครัวเรือนไม่จำหน่าย ให้ปลูกไม่เกินครัวเรือนละ 5 ไร่ และต้องจดแจ้ง โดยย้ำว่าต้องไม่มีการขาย”
นายปานเทพ กล่าว
ส่วนอีกกลุ่มที่จดแจ้งได้ คือ สถานพยาบาลตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย แผนไทยประยุกต์ การแพทย์แผนจีน หน่วยงานของรัฐ ในกำกับของรัฐ สภากาชาดไทย หรือหมอพื้นบ้านที่รับรองตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ รวมถึงสถานพยาบาลสัตว์ที่มีผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ชั้น 1 สามารถปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะรายให้ผู้ป่วยได้ไม่ต้องขออนุญาต คือ ให้ประโยชน์ทางการแพทย์สำคัญสูงสุด เพราะต้องการลดขั้นตอนภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วย
นายปานเทพ กล่าวว่า ในเรื่องของการทำธุรกิจนั้นมีมาตรา 15 กำหนดให้ต้องขออนุญาตทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเพาะปลูก ผลิต สกัด ขาย แปรรูป ทุกกรณีต้องขออนุญาต หากไม่ขออนุญาตมีโทษหนัก โดยรายเล็กไม่เกิน 5 ไร่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนรายใหญ่เกิน 5 ไร่ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำเข้าไม่ขออนุญาต มีโทษหนัก เพราะทำลายชาติ เสนอโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
ส่วนคำถามว่าขออนุญาตยากหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า หากเป็นบุคคลธรรมดาเพื่อทำธุรกิจ ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี คุณสมบัติผู้ขออนุญาตได้ทุกกรณี ยกเว้นว่าทำความผิดตามที่กฎหมายห้าม และถ้าเป็นนิติบุคคล ขอเป็นนิติบุคคลไทย และคนไทยเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคล ขณะที่วิสาหกิจ บุคคลผู้ดำเนินการแทนก็ต้องสัญชาติไทยอยู่ในประเทศไทย แปลว่า เราไม่ให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจเอง 100% คนไทยต้องถือหุ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งและเป็นกิจการของคนไทย
“เรื่องการขายโฆษณาออนไลน์ มีมาตรา 28 กำหนดเรื่องช่อดอก ยางกัญชา สารสกัด เครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา ห้ามโฆษณา ถ้าใครโฆษณามีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท แม้จะไม่ใช่กลุ่มดังกล่าว เป็นกัญชาพืชสมุนไพรก็ต้องไม่โฆษณาเกินจริง หากเกินจริง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งระงับได้ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย”
นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวว่า เรื่องการจำหน่ายนั้นได้ประยุกต์จากสมุนไพรควบคุม คือ มีมาตรา 37 ห้ามจำหน่ายกัญชากัญชง สารสกัด อาหารที่มีกัญชากัญชงหรือสารสกัดให้แก่คนอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ถ้าทำจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังกำหนดวิธีการขายด้วย โดยมาตรา 37/1 การขายกัญชากัญชง สารสกัด หรืออาหารที่กัญชากัญชงหรือสารสกัด ห้ามใช้เครื่องขาย
“กดตู้ทำไม่ได้ การขายออนไลน์ช่อดอก ยาง ทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกกรณีก็ขายไม่ได้ มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนอื่นอย่างการโปรโมท ทำการตลาด ก็ทำไม่ได้เช่นกัน มีการควบคุมสถานที่ในการขายกัญชา โดยสถานที่ห้ามขาย เช่น วัด ศาสนาสถาน สถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ฝ่าฝืนจำคุก 1 ปี ส่วนกรณีสถานศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา เช่น ในโรงเรียนเด็กประถม มัธยม หากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท”
นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ไม่สูบกัญชาจึงมีกฎหมายเหมือนบุหรี่ที่มีการควบคุมไม่ให้ละเมิดต่อคนไม่สูบบุหรี่ ก็ประยุกต์มาใช้กับกัญชา โดยกำหนดพื้นที่ห้ามและควบคุมการสูบกัญชา เพื่อคุ้มครองคนไม่สูบ เช่น ห้ามสูบที่วัด, ศาสนสถาน, สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ยกเว้นเพื่อผู้ป่วยและจำเป็นต้องใช้โดยการอนุญาตของแพทย์, สถานที่ราชการ (เว้นสถานที่พักส่วนบุคคล), สถานศึกษา ยกเว้นการเรียนการสอนการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาที่สอนเรื่องกัญชากัญชงสารสกัด, ห้ามสูบสถานบริการเชื้อเพลิง, สวนสาธารณะที่รัฐจัดให้ และสถานที่สาธารณะ ไม่เหมือนบุหรี่ ซื้อไปสูบข้างนอกเลย สถานที่สาธารณะร้านอาหาร ยานพาหนะ หรือสถานที่ตามรัฐมนตรีประกาศกำหนด
“ถ้าจะจัดพื้นที่สูบ รัฐมนตรีด้วยความเห็นชอบคณะกรรมการประกาศกำหนดเขตสถานที่สูบกัญชา ตามเงื่อนไขในกฎกระทรวง โดยเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นกฎกระทรวง เพราะในต่างประเทศมีการสูบเพื่อทางการแพทย์ เช่น ใช้สารซีบีดี (CBD) ลดการอักเสบ ผู้ป่วยระยะท้าย ศูนย์บำบัดยาเสพติดประเภทอื่นที่ร้ายแรง คืออนุญาตได้แต่ต้องผ่านคนมาก”
นายปานเทพ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 37/3 ก ห้ามผู้ใดจูง ชักนำ ยุยง ส่งเสริม ใช้อุบาย หลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือขืนใจด้วยประการอื่นให้ผู้อื่นบริโภคหรือใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี มีมาตรา 37/5 ห้ามผู้ใดขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด อาหารที่มีกัญชา ถ้ามึนเมาขับรถจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 65)
Tags: THC, กัญชง, กัญชา, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์