ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท วาระสอง ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธาน
นายศุภชัย แจ้งกับที่ประชุมว่า เมื่อวานนี้ (17 ส.ค.) ที่ประชุมสภาฯ ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วงเงิน 1.97 แสนล้านบาท โดยกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงแล้วเสร็จ และเป็นขั้นตอนของการลงมติ แต่ถูกทักท้วงและต้องการให้กมธ.ชี้แจงเพิ่ม
โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณให้กับกองทัพอากาศ ในโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ F35A ที่พบว่าได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นเงินงวดที่ต่ำกว่ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดว่าการจัดสรรงบประมาณผูกพันต้องมียอดไม่ต่ำกว่า 10% ของจำนวนวงเงินทั้งหมด เพราะมียอดเพียง 5%
ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รองประธานกมธ.ฯ ชี้แจงว่า โครงการจัดซื้อเครื่องบิน F35A ที่เสนอขอจัดสรรประมาณ 700 ล้านบาท ในชั้นการพิจารณาของอนุกมธ.ฯ ที่ขอให้ตัดออกนั้น ไม่ใช่ข้อยุติ เพราะต้องให้กมธ.พิจารณาเป็นมติ ซึ่งมติของกมธ.ได้คืนงบในโครงการและจัดสรรให้ประมาณ 300 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวข้องการอนุมัติงบประมาณที่ 5% ซึ่งต่ำกว่ามติครม. นั้น ไม่ใช่ข้อบังคับผูกพันกับการทำงบประมาณของกมธ. ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ หน่วยงานราชการเป็นผู้จัดตั้งบ ส่วนการอนุมัตินั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
จากนั้น ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติในประเด็นดังกล่าว โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมเห็นชอบกับการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก
นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เพราะตลอด 8 ปีของการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ตั้งงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมเพิ่มมากขึ้น แต่พบการใช้งบแบบไม่คุ้มค่า เช่น ซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ เรือดำน้ำแต่ดำน้ำไม่ได้ เนื่องจากหาเครื่องยนต์ติดตั้งไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องระดับชาติ แต่กลับทำแบบเล่นขายของ
สำหรับในการอภิปราย มาตรา 8 งบของกระทรวงกลาโหม ในภาพรวมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้กองทัพจัดซื้ออาวุธยุทธโปกรณ์ เช่น เครื่องบินรบ, เรือดำน้ำ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ
ด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอตัดงบ 10% ในส่วนของเงินนอกงบประมาณที่ไม่อาจตรวจสอบได้ โดยระบุว่าเงินนอกงบประมาณของกองทัพนี้ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องคือ เงินนอกของนอกงบประมาณ เพราะไม่อยู่ในงบการเงินของกระทรวง เป็นธุรกิจกองทัพพาณิชย์ที่ไม่มีการรายงานและการตรวจสอบใดๆ เช่น บ่อน้ำมัน สนามกอล์ฟ สนาม้า สนามมวย โรงแรม ปั๊มต่างๆ
“รายได้เหล่านี้ มีแต่คำอ้างว่าเอามาเป็นสวัสดิการกองทัพ แต่คำถามคือ เป็นสวัสดิการของใคร นายพล ขุนศึก ศักดินาหรือไม่ และไม่ใช่แค่สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่ตรวจสอบไม่ได้ แม้แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็ตรวจสอบไม่ได้เช่นกัน และที่ตลกร้ายก็คือ ในการให้คะแนนความโปร่งใสของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรากฏว่ากระทรวงกลาโหมทุกหน่วยงาน ได้คะแนนความโปร่งใสผ่านแบบ 100%”
นายวรภพ กล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับเงินนอกของนอกงบประมาณที่ตรวจสอบพบ และมีรายงาน อาทิ บ่อน้ำมัน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งกองทัพขุดกลั่นได้ 86,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งต่อให้เป็นน้ำมันเกรดไม่ดี ก็จะมีรายได้ 600 ล้านบาทต่อปี, ในส่วนสนามกอล์ฟ ของกองทัพบกมีจำนวน 36 แห่ง นอกจากนี้ กองทัพยังมีโรงแรม 5 แห่ง สนามม้า 1 แห่ง สนามมวย 1 แห่ง ซึ่งรายได้รวม 300 ล้านบาทต่อปี ปั๊มน้ำมันอีกจำนวนมาก รวมถึงที่ดินราชพัสดุซึ่งทั้งประเทศมี 12 ล้านไร่ แต่อยู่ในครอบครองของกองทัพแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง
“รายการเงินนอกของนอกงบประมาณเหล่านี้ ผมเชื่อว่าถ้าถูกเปิดเผยออกมา ถูกใช้จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถตัดลบงบประมาณของกระทรวงกลาโหม และนำไปสร้างเป็นงบประมาณประชาชนได้อีกอย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ทำให้เกิดคำถาม ว่าทำไมกองทัพกลายเป็นหน่วยงานอภิสิทธิ์พิเศษ ที่เอาทรัพย์สินแผ่นดินไปสร้างรายได้ให้กับเหล่านายพล ขุนศึก ศักดินา อย่างไม่มีการตรวจสอบ และก็อ้างแต่ว่าเป็นสวัสดิการกองทัพ และสุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะยิ่งเป็นการเบี่ยงเบนภารกิจของกองทัพให้ออกจากหน้าที่ในการป้องกันประเทศ กลายเป็นว่าไปหมกมุ่นอยู่แต่กับการป้องกันกองทัพพาณิชย์ของตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่ความถนัด ดังนั้น อยากให้ชี้แจงมาว่าเงินนอกของนอกงบประมาณนั้น เป็นมูลค่าเท่าไร และทำไมไม่เป็นเงินในงบประมาณประจำปี”
นายวรภพ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 65)
Tags: งบประมาณปี 66, งบประมาณรายจ่าย, วรภพ วิริยะโรจน์, วราเทพ รัตนากร, ศุภชัย โพธิ์สุ, เรวัต วิศรุตเวช