นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุนธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ในหัวข้อ “Perfect Storm เศรษฐกิจโลก…เศรษฐกิจไทย” ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่คาดว่าจะสามารถกลับไปเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้ โดยจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 65 เป็นต้นไป
“แม้เศรษฐกิจโลกจะโตช้าลง จากปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง แต่อาจจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวอยู่หลายอย่าง แต่ก็ยังมีปัจจัยกดดันที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีเช่นกัน จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียงแค่บางส่วน แต่ขาดการกระจายตัว” นายอมรเทพกล่าว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะต้องจับตามองต่อจากนี้ มีทั้งเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว ที่แม้จะเพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดเมือง แต่อาจจะส่งผลฟื้นตัวเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มโรงแรมระดับน หรือจังหวัดหลัก อย่างกทม. หรือภูเก็ต แต่พื้นที่อื่น ๆ อาจจะฟื้นตัวช้า รวมถึงการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวลดลง และยังมีปัญหาขาดแคลนเที่ยวบินอีกด้วย โดยคาดว่าปีนี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 10 ล้านคน และปี 66 ราว 20 ล้านคน
และปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เกิดปัญหาราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอยู่ กระทบทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยเช่นกัน รวมถึงสถานการณ์การเมืองในไทย ที่ในช่วง 6 เดือนนี้จะมีการเลือกตั้งรอบใหม่ ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติต่างชะลอการลงทุนออกไป หรือย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่น
นอกจากนี้ ภาคการส่งออกจะโตช้าลงตามเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงเห็นโอกาสในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางพารา อาหารแปรรูป และปิโตรเคมี ขณะที่ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป คาดว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้อีกครั้ง เพราะสหรัฐฯมีท่าทีชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และอาจจะกลับมาใช้นโยบายลดดอกเบี้ยในปี 66
ส่วนนายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อ “ส่องเทรนด์ลงทุน…ฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤต” ว่าในปีนี้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว ซึ่งได้รับอานิสงส์มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การเปิดเมือง จึงทำให้เศรษฐกิจด้านท่องเที่ยวมีการฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจยังไม่จบ ในปีถัดไปเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวน้อยกว่าปีนี้ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงขึ้น
นายสุกิจ กล่าวว่า เทรนด์การลงทุนที่น่าสนใจในสภาวะเงินเฟ้อมีทั้งหมด 6 เทรนด์ คือ 1) หุ้นที่มีอำนาจในการต่อรองราคา คือหุ้นที่มีราคาขึ้น 2) หุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาดและรถยนต์ EV หุ้นในกลุ่มนี้มีความน่าสนใจต่อเนื่อง ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้มีอนาคตและมีกำไร 3) ตลาดหุ้นจีน เพราะจีนถือเป็นเจ้าใหญ่ในการผลิตพลังงานสะอาด และการเปิดเมือง 4) ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพที่ดีในการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ประเทศอินโดนีเซีย 5) ESG การลงทุนในบริษัทที่มีความยั่งยืนซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ใหญ่ และ 6) หุ้นเทคโนโลยี ที่แนะนำธุรกิจ Data Center
นอกจากนี้ นายสุกิจได้แนะนำกุลยุทธ์การลงทุนว่า ต้องประเมินความเสี่ยงให้ได้ ไม่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงมาก เนื่องจากการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงมักมากับความเสี่ยง ต้องรักษาสภาพคล่องให้ดี เพราะว่าบางทีอาจมีโอกาสดีที่น่าลงทุนผ่านเข้ามา รวมถึงเลือกสินค้าที่มีคุณภาพที่ดี ลงทุนในตราสารที่มีรายได้สม่ำเสมอ ลงทุนในจังหวะที่มูลค่าไม่สูง เน้นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองราคา และลงทุนในบริษัทที่มีความมั่นคง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 65)
Tags: CIMBT, ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย, สุกิจ อุดมศิริกุล, อมรเทพ จาวะลา, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย