นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการลงทุนไทย วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น” ในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” โดยคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-3.5% ซึ่งอยู่ในระดับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังขยายตัวได้ 2.5% แม้จะเป็นระดับที่ไม่สูงนัก แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา โดยคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 8-10 ล้านคน ขณะที่ภาคการส่งออกก็ทำได้ดี แม้จะไม่ร้อนแรงเหมือนปีก่อน
รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 2566 ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2565 ที่ขาดดุล 7 แสนล้านบาท ภายใต้ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ 4-5% โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลที่ลดลงนั้น ถือเป็นสัญญาณที่รัฐบาลพยายามจะบอกว่า ในอนาคตต้องลดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้มีการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ขณะเดียวกันต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ควบคู่ไปด้วย
“การจัดทำงบประมาณ ต้องอยู่บนการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจว่าจะขยายตัวเท่าไร โดยที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เข้ามาแทรกซ้อนการระบาดของโควิด-19 ทั้งเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุด ความขัดแย้งของจีน-ไต้หวัน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาอาหาร รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จนทำให้ต้องเริ่มทำนโยบายการเงินที่เข้มข้นขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบกับประเทศอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะการส่งออก ในฐานะที่เป็นประเทศคู่ค้าด้วย” นายอาคม กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลพยายามให้ความสำคัญ คือ การเร่งกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออกของไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำได้ดี โดยการค้าของไทยยังขยายตัวได้ดี แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากการกระจายการส่งออกไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยในช่วงปี 2563-2564 การส่งออกในส่วนนี้ยังขยายตัวได้ 20% ดังนั้นไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการค้าขายกับประเทศกลุ่มเล็กแถบลุ่มแม่น้ำโขง และกลุ่มใหญ่ คือประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้
รมว.คลัง กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 0.25% ว่า หลายฝ่ายอาจมองว่าขึ้นน้อยเกินไป และควรขึ้น 0.50% ต่อปี สะท้อนว่าไทยได้ผ่านพ้นช่วงการใช้นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลาย และเดินหน้าเข้าสู่การใช้นโยบายในภาวะปกติ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ชัดเจนว่าไม่ได้ดูแค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือการไหลออกของเงินทุนเท่านั้น แต่ต้องชั่งน้ำหนักเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็ฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนราคาพลังงานและอาหารที่ปรับสูงขึ้นนั้น ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป โดยต้องยอมรับว่ามีทั้งส่วนที่รัฐบาลควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้
ทั้งนี้ จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จะมีผลกระทบกับ 3 กลุ่มหลัก คือ 1. ประชาชนที่จะมีภาระเพิ่มขึ้น หากสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที เพราะรายได้โตไม่ทันรายจ่าย แต่ที่ผ่านมา สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยืนยันที่จะช่วยดูแลลูกค้าในช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น โดยการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนการจะทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยลดลงได้นั้น ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วขึ้น 2. ภาคธุรกิจ ที่ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และ 3. ภาครัฐ ที่ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้ บริหารหนี้ และยืดหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 65)
Tags: ดอกเบี้ย, หนี้ครัวเรือน, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ