นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ว่า
เรื่องนี้เป็นวาระลับ โดยรายละเอียดยังเปิดเผยไม่ได้ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องของเสถียรภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมาจากปัจจัยและวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงเงินบาทที่อ่อนลง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงพลังงาน และในอดีตกองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบอยู่หลายหมื่นล้านบาท ก็สามารถออกเงินกู้ตราสารหนี้ต่างๆ ได้ เพราะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในกระทรวงพลังงาน และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันอยู่แล้ว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เมื่อออกเป็น พ.ร.ก.ก็จะมีผลทันที แต่เมื่ออยู่ในสมัยประชุมสภาฯ ก็ต้องนำเสนอทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร แลวุฒิสภา แต่ทั้งนี้จะต้องกู้ก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อที่จะต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งสถานการณ์ฤดูหนาวในต่างประเทศอาจจะมีผลพวงต่อราคาพลังงานได้
“ดังนั้น เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดำเนินการต่อไปตามบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน ก็จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมา ก็ได้หาทุกวิถีทางแล้วในการที่จะเสริมสภาพคล่อง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกองทุนน้ำมันฯ”
รองนายกฯ และรมว.พลังงาน กล่าว
ส่วนวงเงินว่าจะกู้ 1.5 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอีกที และคงไม่ใช่เป็นการกู้ครั้งเดียว แต่จะทยอยกู้ตามความจำเป็น
“มีทั้งของเก่า และเตรียมพร้อมของใหม่ พยายามจะทำให้ดี โดยยึดวินัยการเงินการคลังด้วย ส่วนจะกู้จนเต็มเพดานหรือไม่ ก็ต้องรอดูก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นวาระลับ โดยไม่สามารถที่จะบอกจำนวนการกู้เงินได้”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี วงเงินกู้ ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังพิจารณา และจะต้องอยู่ในวงเงินที่เหมาะสม ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อกู้เงินแล้ว หนี้สาธารณะจะไม่เพิ่มขึ้นมาก ส่วนจะออกเงินกู้ได้ภายในสัปดาห์หน้าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปหารือกัน โดยวงเงินกู้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้หนี้กองทุนน้ำมันฯ ไม่ใช่นำมาพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ลิตรละ 35 บาท แต่เป็นการนำมาชำระหนี้เดิมที่ยังช็อตอยู่กว่าแสนล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ ยังชี้แจงถึงเหตุที่ไม่ใช้แนวทางการเก็บภาษีลาภลอยว่า เรื่องนี้เคยมีคิดไว้อยู่แล้วในอดีต แต่ต้องใช้เวลานาน พร้อมระบุว่า ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นแล้ว แต่ขณะนี้ค่าการกลั่นลงมาอยู่ที่ 2 บาทกว่า แต่หากค่าการกลั่นยังอยู่ที่ 5-6 บาทในระยะเวลานาน ก็จำเป็นต้องหารือกับผู้ประกอบการอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้ยังไม่พับแผนถ้ามีโอกาสก็จะหารือ และแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะอ่อนตัวลง แต่ก็ไม่ประมาท เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวความต้องการน้ำมันอาจจะเพิ่มสูงขึ้น และยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด รวมถึงการซ้อมรบของจีน ดังนั้นไทยจึงต้องมีความยืดหยุ่นและเตรียมความพร้อมในทุกเรื่อง เพื่อดูแลประชาชนและรักษาเสถียรภาพในเรื่องที่สำคัญได้
พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยกระทรวงการคลังไม่มีความอึดอัดใดๆ จึงขอให้ประชาชนสบายใจ และเป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังดูแลได้ สิ่งสำคัญในยามวิกฤตต้องประคับประคองผ่านพ้นไปให้ได้
ส่วนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นายสุพัฒนพงษ์ ยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ
“โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย หากจะให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง ต้องใช้วงเงินอีกเท่าไร หรือคนที่ใช้ไฟในช่วง 300-500 หน่วยจะดูแลอย่างไร ซึ่งอีกไม่นานจะมีมาตรการนี้ เนื่องจากค่า Ft ใหม่จะมีผลในเดือนกันยายน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้งบฯกลางในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อน และจะใช้มาตรการนี้ ถึงสิ้นปี 65 เพราะเป็นไปตามรอบของค่าไฟฟ้า เป็นการประคับประคองในสถานการณ์ที่ยากและหนักใจ”
รองนายกฯ และรมว.พลังงานกล่าว
พร้อมกับขอให้ประชาชนมั่นใจในเรื่องเสถียรภาพและวินัยการเงินการคลัง เพราะนายกรัฐมนตรีกำชับ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ต้องดำเนินการให้อยู่ในกรอบ บางครั้งอาจทำให้ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 65)
Tags: กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, ภาษีลาภลอย, มติคณะรัฐมนตรี, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์