อนุทิน แจงประโยชน์กัญชา-กัญชงด้านการแพทย์-ศก. คาดสร้างมูลค่าเพิ่มถึง 5 หมื่นลบ.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานในงาน “Meet the Press : กัญชา-กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ” โดยกล่าวว่า หลังจากปลดล็อกกัญชา กัญชง ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 65 เป็นเวลา 2 เดือน นโยบายกัญชาเสรีเพื่อสุขภาพและการแพทย์ ไม่ได้ก่อผลกระทบด้านลบต่อสังคมมากอย่างที่มีการกังวล โดยจะเห็นได้จากจำนวนผู้เข้ารับการรับการรักษา และผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือภาวะพิษเฉียบพลันจากกัญชา ณ ห้องฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 6 มิ.ย.-16 ส.ค. 65 เป็นเวลา 2 เดือนกว่า มีผู้ป่วย 60 ราย หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 1 คน ซึ่งไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศเกือบ 70 ล้านคน เนื่องจากการได้รับข้อมูลข่าวสารการใช้กัญชา กัญชงที่ถูกต้อง ผ่านช่องทางต่างๆ ของรัฐไปทั่วประเทศ รวมทั้งการมีคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ

นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายกัญชาเสรีจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เกิดผลกระทบต่อสังคม มีเพียงการตีตนไปก่อนไข้เท่านั้น ตามข่าวที่มีการขายกัญชาตามถนน หรือเสพในพื้นที่สาธารณะ ถ้าเขาไม่ได้สร้างความรำคาญ ต้มกินในบ้าน หรือถ้าไม่ใช่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ก็ไปทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว แต่ถ้าออกมาก่อความรำคาญให้คนอื่น หรือมอมเมาเยาวชนก็จะควบคุมได้

“ป่วยการที่จะไปออกกฎห้ามใช้ในโรงเรียน สถานที่ราชการ เพราะถูกครอบโดยพ.ร.บ.สาธารณสุข แล้ว นอกจากครูจะใช้ก็เป็นเรื่องของผู้อำนวยการโรงเรียน ครูที่บอกคอนโทรลไม่ได้มองเป็นเรื่องดราม่า ซึ่งถ้านักเรียนเสพกัญชาแล้วครูบอกว่าทำอะไรไม่ได้ แปลว่าครูไม่อ่านกฎหมาย สมัยเป็นนักเรียน แค่ดื่มน้ำยังต้องขออนุญาตครู ถ้าไม่ขอก็โดนทำโทษ จึงไม่เชื่อว่าเด็กอายุ 15-16 ปี จะกล้าท้าทายครู จะไปโทษเด็กก็ไม่ได้ ต้องโทษผู้ที่ควบคุม มองว่าเป็นเรื่องที่กุขึ้นมาเพื่อด้อยค่ากัญชา ซึ่งก็เข้าใจเพราะเป็นเรื่องใหม่” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศผลการศึกษาประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ 6 ข้อ ได้แก่ 1. ลดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด 2. รักษาโรคลมชักที่รักษายากในเด็ก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 3. ลดภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทแข็ง 4. ลดภาวะปวดประสาทส่วนกลาง 5. ลดภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และ 6. เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

สำหรับมูลค่าตลาดของกัญชา กัญชง ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ในขณะนี้อยู่ที่ 28,000 ล้านบาท จากพื้นที่การปลูก 7,500 ไร่ และยังมีที่รอการอนุมัติอีกจำนวนมาก โดยเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้การเติบโตทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คาดว่าในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้าจะเพิ่มไปอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่แอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ที่รวบรวมข้อมูลการใช้ที่ถูกต้อง และการอนุญาตกัญชาไว้ ขณะนี้มีผู้เข้าใช้งานเกือบ 46 ล้านครั้ง มีผู้ลงทะเบียนกว่า 1 ล้านคน ทั้งเพื่อขอจดแจ้งการปลูกในครัวเรือน เพื่อการพาณิชย์ ส่วนที่ใช้เพื่อผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง ก็มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ซึ่งเป็นการควบคุมมาตรฐานการใช้กัญชาให้มีความรอบคอบ และควบคุมการใช้กัญชาให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ข้อมูลผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัด ยังแสดงให้เห็นว่าขณะนี้สิ่งทำร้ายสุขภาพประชาชน คือ ยาบ้า ไม่ใช่กัญชา ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา จากผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมดเป็นผู้เสพยาบ้าอยู่ถึงเกือบ 80% ขณะที่เป็นผู้เข้ารับการบำบัดจากการเสพกัญชา 4.2% และคาดว่าจะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ

นายอนุทิน กล่าวว่า ในช่วงที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ยังไม่มีผลบังคับใช้ กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกประกาศกระทรวง 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ 2. ห้ามจำหน่ายกัญชาซึ่งเป็นพืชสมุนไพรควบคุม ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร 3. ห้ามใช้ช่อดอกปรุงอาหาร และ 4. ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ที่ใส่กัญชา ต้องติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ และให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำกับดูแลการใช้กัญชาให้เหมาะสม ที่หากกระทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. คาดว่าคณะกรรมาธิการจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

“ในส่วนของช่อดอกต้องได้รับการอนุญาต จึงจะนำไปหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ การใช้ช่อดอกในการปรุงอาหาร ทำไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งกรมอนามัยได้ออกประกาศเป็นแนวทางแล้ว อย่างไรก็ดี มองว่าไม่ต้องมีประกาศเพิ่มเติมอะไร เพราะกฎหมายวันศุกร์นี้ก็เสร็จแล้ว และจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมา ก็มีความสอดคล้องกับสาระในกฎหมาย ไม่มีอะไรที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าจะใช้ก็บังคับใช้ได้ แต่ไม่มีอะไรดีเท่าความร่วมมือของประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายก่อน จะสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศไทย เนื่องจากตลาดผลิตภัณฑ์จากกัญชามีมูลค่าสูง ขณะที่ไทยก็มีองค์ความรู้และภูมิปัญหาดั้งเดิมอยู่มาก เช่นกรณีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่มีการวิจัยยากัญชาที่จะมาทดแทนยานอนหลับ ที่ปัจจุบันเฉพาะคนไทยเองก็มีปัญหาเรื่องการนอนอยู่ถึง 19 ล้านคน ซึ่งผลการวิจัยนี้จะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศและเพิ่มโอกาสการส่งออก เพราะตอนนี้ตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มูลค่าสูงหลายล้านล้านบาท

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้า รมว.สาธารณสุขมาเลเซีย ซึ่งได้ประกาศนโยบายที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์ในมาเลเซีย ก็จะมาพบผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และขอดูงานการดำเนินการของประเทศไทย ขณะที่เยอรมนีก็อยู่ระหว่างกระบวนการออกกฎหมายกัญชาเสรี ซึ่งการที่เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้คาดว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปจะดำเนินนโยบายในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะเจาะตลาดไปยังประเทศต่างๆ สร้างส่วนแบ่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง เช่นเดียวกับแคนาดาที่ประกาศให้กัญชาถูกกฎหมายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และขณะนี้สร้างรายได้เข้าประเทศได้สูงถึง 2,000 ล้านยูโรต่อปี

นอกจากนี้ นโยบายกัญชาเสรีจะช่วยเปิดทางให้กัญชา และกัญชงของไทย สามารถออกไปช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก มูลค่ากว่า 1.039 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 3.53 ล้านล้านบาท) ในปี 2567 ตามรายงาน Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมอย่างถูกกฎหมายทั่วโลก ขณะเดียวกันตลาดกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องคือประมาณ 26% ต่อปี มีมูลค่าประมาณ 2,700 ล้านบาท และคาดว่าจะโตได้ถึง 40,000 ล้านบาท ภายในปี 2570

“ตลาดโลกสำหรับผลิตภัณฑ์กัญชามีแต่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีลด เพราะมีประเทศจำนวนมากขึ้น กำลังทยอยปลดล็อกกัญชาเช่นเดียวกับไทย ล่าสุดในหลายประเทศให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของกัญชา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เราจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชาสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ได้มีการประชุมทั้งหมด 13 ครั้งแล้ว โดยเปิดให้มีการอภิปรายได้ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชา เพื่อให้กฎหมายมีความรอบคอบ มีข้อมูลในหลายมิติ

“สุดท้ายถ้ากฎหมายนี้ออกมา ทุกคนคงสบายใจขึ้น และรู้ว่าจะทำอะไร ควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน เหลือเรื่องเดียว คือ หน้าที่ของกรรมาธิการจะหมดลงวันที่ 19 ส.ค.นี้ ในการร่างหมวดเฉพาะการเป็นหมวดสุดท้าย ซึ่งเชื่อว่าเสร็จทัน อาทิตย์หน้าก็ให้ผู้สงวนแปรญัตติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาชี้แจง ทำความเข้าใจ และจะเสนอเข้าที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาต่อไป ซึ่งความล่าช้าจะไม่อยู่ที่กรรมาธิการแล้วต้องช่วยส่งสัญญาณให้สมาชิกรัฐสภา ช่วยกันออกกฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุด” นายปานเทพ กล่าว

ด้าน น.ส.สกุณา คุณวโรตม์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมาย กองกฎหมาย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข บังคับใช้ให้ร้านอาหารต้องขออนุญาตกรณีมีอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยรายละเอียดประกาศกระทรวงเพิ่มเติม เช่น ต้องมีป้ายสัญลักษณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 44 ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการเขตสามารถลงพื้นที่ตรวจตราร้านอาหารได้ โดยหากพบว่ามีการขายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาแบบไม่ถูกต้อง สามารถเก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 65

Tags: , , , , ,
Back to Top