นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงท่าทีในการรร่วมเข้าชื่อกับ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของ ส.ส.และฝ่ายที่เห็นด้วย ส่วนส.ว.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นสภาถ่วงดุล มีความเป็นกลาง จึงไม่ควรร่วมลงชื่อ
“การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ เมื่อใครมีข้อสงสัยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทาง และมีความเห็นไม่ตรงกันซึ่งยอมรับว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้หาร 100 หรือหาร 500 ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ต่างมีประเด็นที่มองได้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ และกรณีที่ขณะนี้กลับไปใช้ร่างฉบับของรัฐบาล หากมีปัญหาที่สงสัยว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ต้องนำไปสู่การยุติข้อสงสัยให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ”
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มี ส.ว.มาร่วมแสดงตน 150 คน ไม่มา 99 คนนั้น เป็นเพราะมีความเห็นต่าง หากประเด็นนี้จะถูกนำไปโยงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญกำหนด เชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ และเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ถูกยื่นต้องอธิบาย เบื้องต้นทราบว่าจะมีผู้ที่ไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 65)
Tags: การเมือง, ร่างกฎหมาย, ศาลรัฐธรรมนูญ, ส.ว., สมาชิกวุฒิสภา, เลือกตั้ง ส.ส.