5 ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จ่อยื่นหนังสือถึงพาณิชย์ขอปรับราคาขึ้นอีก 2 บาท

5 บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประกอบด้วย มาม่า, ไวไว, ยำยำ, นิชชิน และซื่อสัตย์ เตรียมนัดยื่นหนังสือให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.) เพื่อขออนุมัติปรับขึ้นราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกซองละ 2 บาท เป็น 8 บาท เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะแป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ ยังไม่รวมวัตถุดิบอื่นๆ ในการผลิต เช่น หอม กระเทียม พริก ขณะเดียวกันยังมีแนวโน้มของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก

ดังนั้น ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 5 ราย จึงต้องการให้กรมการค้าภายใน พิจารณาอนุมัติปรับขึ้นราคาอีกซองละ 2 บาท โดยพร้อมที่จะชี้แจงรายละเอียดของต้นทุนที่แท้จริงให้ได้รับทราบ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้พยายามเพิ่มปริมาณการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างประเทศให้มากขึ้นแล้ว เนื่องจากในต่างประเทศไม่มีการคุมราคาจำหน่ายเหมือนในไทย ขณะเดียวกัน ก็เตรียมจะลดการจำหน่ายในประเทศลงด้วย หากในท้ายสุด กรมการค้าภายในไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคา

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรามาม่า เปิดเผยว่า มาม่า ได้ปรับขึ้นราคาครั้งสุดท้ายเมื่อปี 51 หรือคิดเป็นเวลาถึง 14 ปีมาแล้ว โดยครั้งนั้นเป็นการปรับขึ้นซองละ 1 บาท จาก 5 บาท เป็น 6 บาท และยังคงจำหน่ายในราคานี้มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาวัตถุดิบสำคัญได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งแป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม ทางบริษัทได้มีการปรับสัดส่วนในการขายไปต่างประเทศให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น จึงทำให้สินค้าในประเทศไม่ได้ขาดแคลน แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดทุนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถปรับขึ้นราคาในประเทศได้

“เราขาดทุนหนักมานาน 9 เดือน ของที่ผลิตในไทยขึ้นราคาไม่ได้ หากถามว่าไม่ขึ้นราคา เราจะเจ๊งไหม คงไม่เจ๊ง แต่คงยอมให้ขาดทุนตลอดไปไม่ได้ เราคงต้องปรับสัดส่วนขายในประเทศไปส่งออกมากขึ้น เพราะต่างประเทศเข้าใจสถานการณ์วัตถุดิบต่างๆ ไม่ควบคุมราคา มาม่าก็ปรับมา 1-2 ครั้งแล้ว อยากย้ำว่า ของแพงดีกว่าของขาด” นายพันธ์ ระบุ

ด้านนายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตราไวไว กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้เงินเฟ้อในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น แป้งสาลี ราคาสูงขึ้น 20-30% จากผลกระทบของสถานการณ์ในรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว ตลอดจนค่าขนส่ง แต่บริษัทได้พยายามตรึงราคาจำหน่ายมาโดยตลอด เพราะเข้าใจดีว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้มีรายได้น้อย

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องขอให้กรมการค้าภายในพิจารณาอนุมัติให้ปรับขึ้นราคา ซึ่งหากกรมฯ ไม่อนุมัติ ก็อาจจำเป็นต้องปรับลดสัดส่วนการขายภายในประเทศลง และเพิ่มสัดส่วนการขายในต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่แท้จริง

ขณะที่นายกิติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรายำยำ ระบุว่า แม้บริษัทฯ จะได้บริหารต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ด้วยการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉพาะในส่วนที่ส่งออก รวมทั้งเพิ่มปริมาณการส่งออกมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถถัวเฉลี่ยต้นทุนจากราคาขายในประเทศที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาได้ ดังนั้นจึงขอความเห็นใจจากกรมการค้าภายใน ให้พิจารณาอนุมัติปรับขึ้นราคาอีกซองละ 2 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยผู้ผลิตให้สามารถอยู่ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top