พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) ในฐานะโฆษกบช.น. เปิดเผยว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับใหม่ เรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย บังคับเฉพาะรถที่นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน โดยผู้โดยสารทั้งแถวตอนหน้า (ผู้ขับขี่) – แถวตอนหลัง(ผู้โดยสาร) ทุกที่นั่งต้องรัดเข็มขัดนิรภัย มีผล 5 กันยายน
โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
– ผู้ขับขี่ ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์
– ผู้โดยสาร ที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์
ส่วนผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
ขณะที่ผู้โดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด
ส่วนกรณีรถยนต์เก่าไม่มีเข็มขัดนิรภัย มีข้อยกเว้น คือ รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2531 ที่ไม่สามารถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ หากจดทะเบียนก่อนวันดังกล่าว ไม่ถือมีความผิด รวมถึงรถกระบะที่มีการจดทะเบียนก่อนปี 2537 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ ส่วนรถกระบะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ก็ต้องมีข้อกำหนดพิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่ง
ส่วนของที่นั่งสำหรับเด็ก ที่มีผลในวันที่ 5 กันยายนนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการประกาศประเภทคาร์ซีทที่นั่งสำหรับเด็ก 3 ประเภทก่อน คือ ที่นั่งสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก และที่นั่งเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายสำหรับเด็ก ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมาย ซึ่งหากมีการพิจารณาได้ทันก็สามารถดำเนินการใช้ได้ภายในวันครบกำหนดที่กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ แต่ถ้าไม่ทันก็สามารถยืดหยุ่นได้ภายใน 90 วัน และจะประกาศบังคับใช้ได้ทันที ทั้งนี้ ความเข้มงวด เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะยังคงว่ากล่าวตักเตือนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ ไม่เน้นจับกุม แต่อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นรายๆ ไป
อนึ่ง เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในการใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัยและให้การป้องกันการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการใช้ช่องเดินรถ ลักษณะความผิดในการขับรถ การตรวจสอบหรือทดสอบผู้ขับขี่ หน้าที่การใช้เข็มขัดนิรภัย การป้องกันการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตและการควบคุมการใช้รถที่มีสภาพไม่ถูกต้อง รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและส่งเสริมให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการจราจรทางบก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 65)
Tags: จิรสันต์ แก้วแสงเอก, ตำรวจนครบาล, เข็มขัดนิรภัย