นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 65 ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง กลไกและหลักเกณฑ์ ในการส่งเสริมและพัฒนาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีความสามารถเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. … และ 2. เห็นชอบในหลักการการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหา เพื่อจัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง ลักษณะของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการที่จะขึ้นทะเบียน การขึ้นทะเบียน และการแบ่งเขตพื้นที่ เพื่อเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 โดยเตรียมเสนอ รมว.สาธารณสุขลงนาม และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบริการสุขภาพปฐมภูมิได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
สำหรับการจัดตั้งกองสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นหน่วยงานระดับกองในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในการอนุมัติจัดตั้งหน่วยงาน และอัตรากำลังบุคลากร ซึ่งปัจจุบันมี นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ คาดว่าจะสามารถดำเนินการยกระดับหน่วยงานให้เป็นระดับกองที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ต่อไป
นายสาธิต กล่าวว่า ระบบสุขภาพของประเทศไทย เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เห็นได้จากการจัดอันดับดัชนีความปลอดภัยด้านสุขภาพของโลก และในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 5 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งเป็นผลมาจากการมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็งและเป็นพื้นฐานการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ โดยมีกฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน มุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ 1. ให้คนไทยทุกคน ทุกสิทธิสวัสดิการ เข้าถึงระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพมาตรฐาน อย่างไร้รอยต่อ 2. การพัฒนาระบบสารสนเทศสุขภาพ (Digital Health) มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน เพื่อให้ทุกคนในประเทศเข้าถึงระบบบริการ หน่วยบริการทุกระดับทุกสังกัดสามารถเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ส.ค. 65)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, ระบบสุขภาพ, สาธิต ปิตุเตชะ