ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (11 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.10% แตะที่ระดับ 105.0900
ดอลลาร์ขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 132.95 เยน จากระดับ 132.90 เยน ขณะที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9419 ฟรังก์ จากระดับ 0.9424 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2760 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2784 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0327 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0306 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าสู่ระดับ 1.2201 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2226 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7107 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7085 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวลง 0.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากปรับตัวขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย.
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 14,000 ราย สู่ระดับ 262,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 263,000 ราย
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอถ่วงดอลลาร์ลง เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 65.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 34.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ส.ค. 65)
Tags: ค่าเงินดอลลาร์, ดอลลาร์, อัตราแลกเปลี่ยน