ทองคำนิวยอร์กปิดลบ 6.5 ดอลลาร์ คาดเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยกดดันราคา

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันพฤหัสบดี (11 ส.ค.) โดยถูกกดดันหลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายรายยังคงแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้มีสัญญาณว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงก็ตาม ขณะที่นักลงทุนหันไปให้ความสนใจลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นแทนการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ทองคำและดอลลาร์

  • ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 6.5 ดอลลาร์ หรือ 0.36% ปิดที่ 1,807.2 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยปิดลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 39.3 เซนต์ หรือ 1.89% ปิดที่ 20.349 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 13.3 ดอลลาร์ หรือ 1.41% ปิดที่ 959.4 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 42.50 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 2,288.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำถูกกดดันจากแนวโน้มที่เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หลังเจ้าหน้าที่เฟดสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในสหรัฐ

นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟด สาขาชิคาโก กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ชะลอตัวลงในเดือนก.ค. ถือเป็นข้อมูล “ในเชิงบวก” เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน อย่างไรก็ดี นายอีแวนส์ระบุว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างยอมรับไม่ได้ และเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ด้านนางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่เฟดจะประกาศชัยชนะในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ และนางดาลีไม่ตัดความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนก.ย.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 65.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 34.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (11 ส.ค.) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวลง 0.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากปรับตัวขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 14,000 ราย สู่ระดับ 262,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 263,000 ราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ส.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top