นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยอมรับว่า การกู้เงินในอนาคตของรัฐบาลจะมีต้นทุนการกู้เงินที่สูงขึ้น เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น และหมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา สบน. ได้บริหารจัดการความเสี่ยง โดยการเปลี่ยนการกู้เงินระยะสั้นที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว (Float Rate) มาเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fix Rate) มากขึ้น โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยคงที่ มีสัดส่วนถึง 82% ส่วนที่เหลือเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ขณะที่ไม่มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะรัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศน้อย เพียงแค่ 1.8% และได้ทำการปิดความเสี่ยงไปหมดแล้ว
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกเบี้ยขาขึ้น การกู้แบบอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะต้องขึ้นแน่ ๆ แต่ถ้าพันธบัตรระยะยาวอัตราดอกเบี้ยในส่วนนี้ขึ้นกับหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งในช่วงหนึ่ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรขึ้นไปสูงมาก แต่ช่วงนี้ก็ปรับลดลงมาแล้ว เพราะว่าตลาดรับรู้อะไรไปหลายอย่างแล้ว อาทิ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทุกอย่างก็กลับลงมา ดังนั้นการกู้เงินในอนาคตของรัฐบาลก็คงมีต้นทุนที่สูงขึ้นแน่ เพราะดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น มันจบแล้ว ยุคดอกเบี้ยต่ำ ๆ” นางแพตริเซีย กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปีงบประมาณ 2566 สบน. ได้บริหารจัดการต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล โดยพยายามกู้เงินระยะยาวผ่านการออกพันธบัตรระยะยาวให้มากขึ้น จากปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 45% จะปรับเพิ่มเป็น 48%, การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จะอยู่เท่าเดิมที่ 25% ขณะที่การออกตั๋วเงินคลังและการกู้เงินระยะสั้นจากตลาด จะลดลงมาอยู่ที่ 14% จากเดิมที่ 18%
สำหรับภาพรวมหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 61.06% จากเมื่อต้นปีที่คาดว่าในสิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ 62.69% แต่ปัจจุบันมูลค่าจีดีพีของประเทศไทยเพิ่มขึ้น และได้ปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะทั้งหมด ทำให้คาดว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะ จะอยู่ที่ 61.3% ส่วนภาพรวมหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปีงบประมาณ 2566 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะต้องรอดูแผนบริหารหนี้ในปีดังกล่าวด้วย ซึ่งหวังว่าจีดีพีจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ยืนยันว่าการก่อหนี้สาธารณะนั้น สบน. ดำเนินการอย่างรอบคอบ และพึงระวังทุกเหตุการณ์ ไม่เคยมีการกู้เงินมากองไว้ แต่การกู้เงินจะค่อย ๆ ดำเนินการกู้ตามความจำเป็นเท่านั้น และดูความเสี่ยงของต้นทุนที่เหมาะสมที่สุด” ผู้อำนวยการ สนบ.กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 65)
Tags: กู้เงิน, ดอกเบี้ย, รัฐบาล, สบน., สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, หนี้สาธารณะ, อัตราดอกเบี้ย, แพตริเซีย มงคลวนิช