ส.กุ้งไทย ร้องกรมประมงหามาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาโรคกุ้ง-รักษาคุณภาพสินค้าไทย

นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีความห่วงใยเกษตรกรไทยที่ต้องเผชิญปัญหาโรคกุ้งและแก้ปัญหากันมามากกว่า 10 ปี จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ยากและท้าทายที่สุด คือการเลี้ยงกุ้งให้รอด จึงอยากเรียกร้องให้กรมประมง หาแนวทางหรือมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเรื่องโรคในการเพาะเลี้ยง

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย ที่ยังมีเกษตรกรไม่ได้รับรู้ข่าวสารและมีความห่วงใย ซึ่งการนำเข้าอาจเกิดผลดีในระยะสั้น จึงขอให้กรมพิจารณาผลที่จะเกิดในระยะยาว โดยเฉพาะด้านภาพลักษณ์ของกุ้งในเวทีโลกด้านคุณภาพ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในฐานะสินค้า “พรีเมี่ยม” รวมถึงโรคอุบัติใหม่จากการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศยังไม่สามารถบรรลุผลการแก้ปัญหาได้ และอาจจะต้องเผชิญกับโรคใหม่

“เป้าหมายการเพิ่มผลผลิตกุ้งไทย 400,000 ตัน ควรยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเรื่องโรคและการรักษาภาพลักษณ์คุณภาพสินค้าไทย เพราะมีความหมายต่อชีวิต และลมหายใจของคนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้งที่เชื่อมโยงกันหลายส่วน”

นายเอกพจน์ กล่าว

นายเอกพจน์ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังเกิดโรคระบาดในกุ้ง อุตสาหกรรมกุ้งไทยสูญเสียโอกาส-รายได้จากการส่งออกถึง 500,000 ล้านบาท ที่น่าห่วงคือจนถึงวันนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ และวิธีที่รัฐพยายามช่วยเหลือยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ การเผยแพร่ข่าวของสื่อต่างประเทศ ว่ารัฐบาลของเอกวาดอร์ได้ประกาศว่ากุ้งเอกวาดอร์สามารถส่งออกไปยังตลาดประเทศไทยได้อีกครั้ง เพราะเอกวาดอร์สามารถดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัย และความปลอดภัยทางชีวภาพได้ กรมประมงไทยยอมรับ และมีประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียนั้น เท่ากับเป็นการยกระดับมาตรฐานกุ้งเอกกวาดอร์มาเทียบเท่ากุ้งไทย ขณะที่กุ้งไทยถูกดึงมาตรฐานให้ต่ำลง

“สมาคมฯ เห็นว่าเรื่องดังกล่าว มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาว อาจสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทยของผู้นำเข้า และผู้บริโภค ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งภายในประเทศ ในระยะกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะผลกระทบโดยตรงต่อราคา”

นายเอกพจน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top