นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 65 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับปกติเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ในการประชุม กนง.รอบก่อน (มิ.ย.65) ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับปกติช่วงไตรมาสแรกของปี 66
ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.รอบหน้าในเดือนก.ย.65 จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.3% ขณะเดียวกัน คาดว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะเริ่มทยอยลดลง หลังจากปัจจัยด้านอุปทานคลี่คลาย แต่อย่างไรก็ดี กนง.จะยังจับตาสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
“ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนไปมาก โดยจะมีการปรับประมาณการในการประชุม กนง.ครั้งหน้า ตอนนี้เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทำให้มีโอกาสปรับ GDP ปีนี้ขึ้นบ้าง จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.3% ส่วน GDP ปีหน้า คงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งการที่เศรษฐกิจเข้าสู่ระดับปกติก่อนสิ้นปี เป็นสิ่งที่คาดไว้แล้ว รวมถึงพัฒนาการของเงินเฟ้อที่คาดว่าจะทยอยปรับลดลง หลังจากที่ขึ้นไปสูงสุดในไตรมาส 3”
เลขานุการ กนง.กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า การประชุม กนง.ในรอบหน้า หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่มีปัจจัยกระทบรุนแรง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง และไม่มีเหตุผลต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย ตามที่ตลาดคาดการณ์ว่าครั้งต่อไป กนง.อาจจะปรับดอกเบี้ยอีก 0.50%
“ครั้งหน้าจะปรับดอกเบี้ยมากน้อยขนาดไหน คงต้องขึ้นกับข้อมูลที่จะเข้ามาในขณะนั้นว่าเป็นไปในทิศทางไหน ถ้าไม่มีช็อคใหญ่ๆ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีอะไรแน่นอน กรรมการสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า”
นายปิติ กล่าว
พร้อมระบุว่า บทบาทของนโยบายการเงินที่จะดึงให้เงินเฟ้อต่ำลง คงเป็นปัจจัยรอง เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรีบกระชากเศรษฐกิจเพื่อทำให้เงินเฟ้อลดลง เนื่องจากในปีหน้า เงินเฟ้อก็จะทยอยปรับลดลงด้วยตัวเองอยู่แล้ว จากปัจจัยด้านอุปทานที่คลี่คลาย
สำหรับความกังวลในการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไปสู่ลูกค้าของธนาคาร ภายหลังจากที่ กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายปิติ มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์คงไม่ได้ทำในทันที แต่คงเป็นการทยอยปรับขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาในการส่งผ่าน 3-4 เดือน โดยเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ยังคำนึงถึงลูกค้าที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
“ธนาคารพาณิชย์คงจะไม่ส่งผ่านต้นทุนทางการเงินไปให้ลูกค้าในทันที คงเป็นการทยอยส่งผ่าน อาจใช้เวลา 3-4 เดือน และคงไม่ใช่ทั้ง 100% แต่อาจเป็นแค่ 50% เพราะความเปราะบางยังคงมีอยู่ในลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์คงไม่อยากสร้างปัญหาให้ลูกหนี้ เพราะมันจะกลายเป็นปัญหาที่วนกลับมาในเรื่อง NPL ของธนาคารเอง”
นายปิติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 65)
Tags: กนง., ดอกเบี้ยนโยบาย, ปิติ ดิษยทัต, เศรษฐกิจไทย