วิจัยกสิกรฯ ชี้ครัวเรือนเปลี่ยนพฤติกรรมใช้จ่าย มองแนวโน้มสินค้าแพงส่อลากยาว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในเดือนก.ค. 65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 32.5 และ 34.0 จาก 30.8 และ 32.9 ได้รับปัจจัยหนุนจากระดับราคาน้ำมัน ที่แม้จะยังอยู่ในระดับสูงแต่ปรับลดลงจากเดือนมิ.ย. 65 เล็กน้อย สะท้อนได้จากดัชนีเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่ลดลง 4.69% เมื่อเทียบรายเดือน และการรายงานข่าวเกี่ยวกับราคาน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ที่ในเดือนก.ค.ปรับลดลงรวม 6.40 บาท/ลิตร ทำให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อราคาน้ำมัน

นอกจากนี้ มุมมองเกี่ยวกับการจ้างงานปรับดีขึ้น หลังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนก.ค. 65 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากกว่า 1 ล้านคน เป็นเดือนแรกตั้งแต่เกิดโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคต่างๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะระดับราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนการขนส่งต่างๆ ซึ่งกดดันให้ระดับราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประกอบอาหาร ค่าขนส่ง ทำให้ในครัวเรือนส่วนมาก (78.7%) ยังมีมุมมองว่ามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่ครัวเรือนจำนวนมากขึ้นใช้จ่ายลดลง เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคต

“ดัชนี KR-ECI ในระดับปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 32.5 และ 34.0 อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนยังมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคยังมีแนวโน้มเปราะบาง ภาคการท่องเที่ยวและความช่วยเหลือจากภาครัฐจะเข้ามามีส่วนประคับประคองบางส่วน” บทวิเคราะห์ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระยะเวลาที่ครัวเรือนมองว่าสถานการณ์สินค้าที่อยู่ในระดับสูง จะเริ่มคลี่คลายลงเมื่อใด โดยผลสำรวจระบุว่า ครัวเรือนมากกว่าครึ่ง (65.6%) มองว่าต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป ขณะที่ครัวเรือนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดือนเม.ย. โดยมีการลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น ดูหนัง และกินเลี้ยงสังสรรค์เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ประชาชนยังมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เช่น ใช้สินค้าในปริมาณที่น้อยลง เพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น ปัจจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของการบริโภคในภาคครัวเรือน จะยังถูกดันจากความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ และมุมมองที่ว่าสถานการณ์สินค้าราคาสูงจะยาวนาน จึงต้องระมัดระวังการใช้จ่าย

ทั้งนี้ เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน ยังมีแนวโน้มเปราะบางจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบสู่ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงอาหาร และบริการ ขณะที่ราคาสินค้าและบริการต่างๆ เช่น แก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในลักษณะขั้นบันได

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จะเข้ามาช่วยให้มุมมองเกี่ยวกับรายได้ และการจ้างงานปรับดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางเข้ามามากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 (High season) นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ อย่างโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 วงเงิน 800 บาท ที่มีเป้าหมายครอบคลุม 26.5 ล้านสิทธิ ที่จะเริ่มใช้ในเดือนก.ย.-ต.ค 65 นี้ ก็จะเข้ามามีส่วนช่วยประคับประคองครัวเรือนได้บางส่วน

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาที่สูงขึ้นนี้ยังไม่มีจุดสิ้นสุดในระยะอันใกล้ นอกจากเงินช่วยเหลือแล้ว ภาครัฐอาจเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความเชื่อมั่น หรือสร้างเสริมในส่วนของรายได้ และการจ้างงานเพิ่มเติมอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top