นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทของธุรกิจประกันภัย ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ว่า ในปีนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยปีนี้แม้สถานการณ์ระบาดของโควิดจะคลี่คลายและพ้นช่วงวิกฤติไปได้แล้ว แต่โรคโควิดก็ยังไม่หายไปไหน ประชาชนยังต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ ซึ่งตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้เริ่มฟื้นตัว มาจาก 2 กลไกสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเริ่มกลับมาทำงานได้ดีขึ้น คือ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดยในส่วนของการส่งออกนั้นเห็นสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 64 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งคาดว่าปีนี้มีโอกาสได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 10 ล้านคน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และคาดว่าในปี 66 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเพิ่มมากขึ้น
รมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มดีขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องมาทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเห็นว่าในธุรกิจประกันภัย ได้เข้ามามีส่วนช่วยดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด มีการออกผลิตภัณฑ์เพื่อให้ความคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากสถานการณ์โควิด แต่ขณะเดียวกันก็มีบทเรียนที่สำคัญ คือการไม่สามารถบริหารความเสี่ยงจากการออกผลิตภัณฑ์ในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติได้ จนเป็นผลให้เกิดการร้องเรียนเข้ามามาก และกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวบริษัทประกัน
พร้อมมองว่า ทุกส่วนประกอบของโครงสร้างประกันภัย/ประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล, ผู้ประกอบธุรกิจประกัน, ประชาชน และตัวแทนขายประกัน ล้วนแต่มีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในระบบประกันทั้งสิ้น
รมว.คลัง กล่าวว่า ธุรกิจประกันเป็นส่วนหนึ่งของภาคการเงินที่มีส่วนช่วยในด้านการออมของประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งในชีวิต และทรัพย์สิน ดังนั้นจึงอยากฝากใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ความมั่นคงของระบบประกัน ซึ่งกุญแจสำคัญคือการบริหารความเสี่ยง โดยจะเห็นได้จากประสบการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่าการจะออกผลิตภัณฑ์ใดๆ นั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องมั่นใจว่าจะสามารถบริหารความเสี่ยงได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความมั่นคงของธุรกิจประกัน 2. การนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ซึ่งในปัจจุบันระบบดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนอย่างมากต่อการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชนเอง แต่ขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะต้องคำนึงถึงระบบความปลอดภัยและน่าเชื่อถือด้วย 3.การส่งเสริมการประกันภัยเพื่อความยั่งยืน โดยเป็นการสร้างองค์ความรู้ และเพิ่มทักษะทางการเงินให้กับภาคประชาชน เพื่อให้ถึงเห็นความสำคัญของการทำประกัน ในขณะที่หน่วยงานที่กำกับดูแล ก็ต้องช่วยลดปัญหาหรือผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และไม่นำไปสู่ความเสี่ยงในภาคธุรกิจประกัน
“2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเราได้ผ่านวิกฤติในเชิงของธุรกิจมากแล้ว จากนี้ไปก็ต้องมองอนาคต rebuild การทำธุรกิจให้มีความมั่นคง สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในระบบประกัน…ระบบประกันของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และไม่แพ้ใครในอาเซียน” นายอาคม ระบุ
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผันผวนของเศรษฐกิจ, ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาภัยธรรมชาติ, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค, การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด, การระบาดของโรคโควิด ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็ง และความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันภัย ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจประกันจะต้องตอบสนองต่อความเสี่ยงดังกล่าวอย่างทันท่วงที
พร้อมมองว่า ในปีนี้และปีหน้ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ แม้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิดจะเริ่มคลี่คลายลงไปแล้ว แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเดือน ก.ย.นี้ อย่างไรก็ดี จากแนวนโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ก็จะเป็นส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค และลดโอกาสการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 65)
Tags: กระทรวงการคลัง, ธุรกิจประกันภัย, บริหารความเสี่ยง, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ