ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมก.ค.อยู่ที่ 89.0 จาก 86.3 ในมิ.ย.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.3 ในเดือนมิ.ย. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ องค์ประกอบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยบวกจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค จากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น

ขณะที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีน ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ การเปิดประเทศและการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้ รายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการลดลงเนื่องจากปัญหาราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่ง ที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนก.ค. จะทยอยปรับตัวลดลงก็ตาม ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อ ยังกดดันกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างชะลอตัวลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 97.5 ในเดือน มิ.ย.65 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศรวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่ผู้ประกอบการมีความกังวลการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกระทบต้นทุนด้านการเงิน ตลอดจนสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบรวมถึงเศรษฐกิจโลก

โดย ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

  1. ขอให้ภาครัฐช่วยดูแลผลกระทบด้าน Supply Chain Shortage จากกรณีข้อพิพาทบริเวณช่องแคบไต้หวัน
  2. ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งค่าไฟฟ้าอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
  3. เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค
  4. เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐบาล เมียนมาออกประกาศ ระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ เช่น ชะลอการชำระหนี้หรือให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยยกเว้นเงินต้น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือนักลงทุนไทยและการให้สถาบันทางการเงินไทยในเมียนมาเข้ามาช่วยเหลือในการรับชำระหนี้เป็นเงินจ๊าด

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวถึงทิศทางการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่า ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ทำให้คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่าเดิม 5-7% เพิ่มเป็น 7-8%

ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐกรณีไต้หวันจะส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนชิปรุนแรงมากขึ้นในระยะสั้น ถึงแม้จะผลิตได้แต่ไม่สามารถส่งออกได้ อีกทั้งมีผลกระทบจากการที่จีนตอบโต้ทางการค้าต่อไต้หวันด้วยการลดนำเข้าสินค้ากว่า 2,000 รายการ และไม่ส่งออกวัตถุดิบสำคัญไปให้ ซึ่ง ส.อ.ท.ได้ทำงานเชิงรุกมอบหมายให้ผู้ประกอบการแต่ละอุตสาหกรรมไปประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากมีสต็อกที่จะใช้ผลิตสินค้าได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องชิปที่ไม่สามารถหาผู้ผลิตรายอื่นมาทดแทนได้ ซึ่งต้องฝากให้ภาครัฐเร่งหาแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ส่งออกสินค้า และการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เข้าในไทย

“ปัญหาขาดแคลนชิปยังไม่รุนแรงเท่าช่วงเกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน แต่เราต้องเร่งเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ใช่อยู่นิ่ง เพราะทุกวิกฤตมีโอกาส” นายเกรียงไกร กล่าว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 6% จากคาดการณ์เดิมที่ 1-3% ส่วนเรื่องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นขอให้เป็นไปตามกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด ขณะที่เรื่องการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นั้นขอให้ภาครัฐพิจารณาอย่างมีเหตุผล และพิจารณาเรื่องการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ขณะที่ภาคเอกชนเองก็พยายามปรับตัวโดยหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

“หากมีปัจจัยลบเข้ามาหลายเรื่องจะสร้างภาระเรื่องต้นทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง” นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นเรื่องที่ ธปท.จะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบเฉพาะที่แตกต่างไปจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็สามารถดูแลได้ดีและดำเนินการอย่างรอบคอบ ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศนั้นมีผลต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน แต่เป็นเรื่องที่รับรู้กันแล้ว หากการเมืองนิ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top