นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2566 เบื้องต้น 4,707.4 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 3,771.068 ล้านบาท งบประจำ 963.332 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลและรมว.คมนาคม โดยขณะนี้ได้มีการชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณฯ แล้ว
โดยในปี 2566 ได้มีการตั้งงบประมาณจำนวน 25 ล้านบาท เพื่อดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล และจัดทำโครงการท่าเรือมารีน่าชุมชน 1 จังหวัด 1 ท่า รวม 6 ท่า ใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ระยะเวลา 540 วัน (ศึกษาระหว่างปี 66-67 )
เบื้องต้นโครงการท่าเรือมารีน่า (เรือสำราญ) จะเป็นท่าเรือ ที่สามารถรองรับเรือได้ตั้งแต่ 30-40 ลำ และสูงสุดไม่เกิน 100 ลำในส่วนของการลงทุนนั้น จะเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และจะมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย ซึ่งเป้าหมาย การพัฒนามารีน่าชุมชน เชื่อว่าจะดึงดูดนัดท่องเที่ยว ที่นำเรือสำราญขนาดเล็ก หรือเรือใบมาจอด จะช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แต่ละชุมชนมากขึ้น
นอกจากนี้ ปี 66 ยังมีงบผูกพันประมาณ 891.98 ล้านบาท ในการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง ซึ่งปัจจุบันเสร็จแล้ว 7 แห่ง การพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวและโครงการเสริมทราย ชายหาด ที่จะเพิ่มศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนและประเทศ
นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมเจ้าท่าได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ ให้รับผิดชอบกำจัดผักตบชวาในพื้นที่แม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 200 กิโลเมตร แม่น้ำป่าสัก ระยะทาง 52 กิโลเมตร แม่น้ำน้อย ระยะทาง 43 กิโลเมตร แม่น้ำลพบุรี ระยะทาง 95 กิโลเมตร และเหนือเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำสะแกกรัง ระยะทาง 20 กิโลเมตร แม่น้ำท่าจีนสายเก่าระยะทาง 10 กิโลเมตร และคลองสาขารวมระยะประมาณ 420 กิโลเมตร โดยในปี 66 มีแผนจัดเก็บ 658,000 ตัน งบประมาณทั้งสิ้น 18.805 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 65)
Tags: กรมเจ้าท่า, สมพงษ์ จิรศิริเลิศ, เรือสำราญ, โลจิสติกส์