หลายสถาบันฟันธงหมดยุคดอกเบี้ยต่ำเชื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบ 10 ส.ค. ประเดิมปรับขึ้นดอกเบี้ยลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในระดับ 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัว และยังคาดการณ์ว่า กนง.จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทำให้ภาพแนวโน้มชัดเจนเข้าสู่ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 ส.ค.นี้จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยมองว่า กนง. จะให้เหตุผลในการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ต่างจากการประชุมครั้งที่แล้ว คือ เศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีสัญญาณของการฟื้นตัวชัดเจนพอสมควร ทั้งการส่งออก การใช้จ่ายในครัวเรือน และโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่สถานการณ์ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ครั้งที่แล้ว กนง. ให้เหตุผลว่าเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น แต่ครั้งนี้เป็นการยืนยันสิ่งที่พูดไปครั้งที่แล้ว จึงมองว่าครั้งนี้น่าจะมีคณะกรรมการที่มองเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน รวมทั้งจากการโหวตครั้งที่แล้วที่เฉือนกันแค่ 1 โหวต ครั้งนี้จึงมีโอกาสสูงที่จะขึ้นดอกเบี้ย” นายพชรพจน์ กล่าว
นายพชรพจน์ กล่าว
นายพชรพจน์ มองว่า สิ่งที่ กนง. คาดหวังผลของการขึ้นดอกเบี้ยคงไม่ใช่แบบเห็นผลทันที (Immediate effect) หรือผลในระยะสั้น (Short term) แต่เป็นการเริ่มต้นของการปรับสมดุลของนโยบายทางด้านการเงินของประเทศ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ใช้มาตรการและนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด เช่น การปรับดอกเบี้ยลงมาต่ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกัน มองว่า ธปท.ก็คงคาดหวังว่าภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน จะรับทราบว่าเศรษฐกิจขณะนี้กลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นหลังจากวิกฤติด้วย
ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ มีทิศทางนโยบายสอดคล้องกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวไปพร้อมเงินเฟ้อ ดังนั้น นโยบายการเงินที่เหมาะสม คือ การทยอยขยับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่ลักษณะที่รีบขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นไปในทิศทางที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐ แต่จะเพียงพอแล้วหรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากในทางทฤษฎีไม่มีระบุว่าดอกเบี้ยต้องห่างเท่าไรจึงเหมาะสม
อย่างไรก็ดี เกือบทุกประเทศ รวมถึงประเทศที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ค่าเงินอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุด ด้านประเทศไทยในช่วงที่ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทก็อ่อนค่ามากอยู่ที่กว่า 36 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดการเงินถ้านำส่วนต่างดอกเบี้ย หรือทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเทียบสหรัฐฯ และแปลงมาเป็นค่าเงิน คิดว่าค่าทุกสกุลเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าถือว่าสอดคล้องแล้ว เพราะการเงินของสหรัฐฯ มีความเข้มงวดมากที่สุด
“หากเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย หรือขึ้นช้า เงินบาทจะขึ้นไปถึง 38-40 บาท/ดอลลาร์หรือไม่นั้น คิดว่าคงหยุดแค่ตรงนั้น เนื่องจากดอกเบี้ยไม่ใช่เรื่องเดียวที่กำหนดทิศทางของค่าเงิน แต่มีเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะไทยมีทุนสำรองเยอะ โอกาสที่จะมาลงทุนแล้วไม่ได้เงินคืนมีน้อยมาก ถึงแม้ดอกเบี้ยไม่สูงแต่ก็นักลงทุนยังสบายใจที่จะลงทุนกับไทย การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. เป็นการดูบริบทของเศรษฐกิจที่เราฟื้นตัวแบบมีเงินเฟ้อ และโลกขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว เมื่อเราอยู่ในวงจรเศรษฐกิจที่ตามหลังไป 6 เดือน เราก็ต้องเริ่มปรับนโยบายไปทิศทางนั้นเช่นกัน” นายพชรพจน์ กล่าว
นายพชรพจน์ กล่าว
สถาบัน | มติ กนง.(10 ส.ค.) | จำนวนครั้งที่ขึ้นดอกเบี้ย | อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 65 |
---|---|---|---|
ศูนย์วิจัย Krungthai | +0.25% | 3 | 1.25% |
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา | +0.25% | 2-3 | 1.0-1.25% |
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb | +0.25% | 3 | 1.25% |
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ | +0.25% | 3 | 1.25% |
สำหรับการประชุม กนง. อีก 2 รอบหลังจากนี้ ในเดือน ก.ย. และ พ.ย. มองว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 2 รอบ ครั้งละ 0.25% อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะออกมาในช่วงนั้นด้วยว่าจะออกมาดีมากน้อยแค่ไหน แต่มองว่าเป็นทิศทางขาขึ้น และหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาน่าพอใจต่อเนื่อง ธปท. ที่ประเมินเศรษฐกิจไทยว่าปีนี้ว่าจะเติบโตที่ 3.3% จะออกมาทบทวนประมาณการอีกครั้งในเดือนก.ย. และ พ.ย.
“ต้องดูว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปสัญญาณเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะกว่าที่คาดไว้ ก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะขึ้นทุกรอบ แต่ถ้ามีประเด็นอื่นเข้ามา ก็ต้องดูความเหมาะสมต่อไป ประเด็นของเราคือ ไม่คิดว่า ธปท.จะต้องเร่งเพื่อตอบโจทย์ลดช่วงว่างกับเฟด แต่ดูเพื่อความเหมาะสมว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบช้าหรือเร็ว ถ้าฟื้นเร็วและทั่วถึง ก็ขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว แต่ถ้าไม่ทั่วถึงก็ขึ้นช้าหน่อย ดังนั้น จะขึ้นทุกครั้ง หรือดีเลย์ 2 ใน 3 ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ มองว่าขึ้น 2 ครั้งก็ไม่ได้มากไป” นายพชรพจน์ กล่าว
นายพชรพจน์ กล่าว
นายพชรพจน์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 1-1.25% โดยระดับนี้ถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้น และเงินเฟ้อไม่รุนแรงเพราะมาจากต้นทุนเป็นหลัก ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยแบบช้าๆ ครั้งละ 0.25% เหมาะสมแล้ว ไม่จำเป็นต้องขึ้นครั้งละ 0.50% หรือ 0.75% เหมือนประเทศอื่นๆ
“สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 66 หากไม่มีเซอร์ไพรส์เพิ่มเติม ประเทศไทยก็มีไดรฟ์เวอร์หลัก คือ การท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวในปีหน้า ทิศทางของบ้านเราคือการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้สิ้นปีจะขึ้นไปที่ 1-1.25% แต่ก็ยังถือว่าต่ำเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับอดีต ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3-4/65 เป็นต้นไป ปีหน้าก็จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่อง มองว่าปีหน้าดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เป็นขาขึ้นเช่นกัน” นายพชรพจน์ กล่าว
นายพชรพจน์ กล่าว
ด้านน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินว่า กนง.รอบนี้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นมีบางส่วนที่เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำผิดปกติจะไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดย กนง.ต้องการดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน ไม่ให้เกิดวงจรเงินเฟ้อในลักษณะที่คุมไม่อยู่ จนระดับราคาขาดเสถียรภาพ
พร้อมมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งแม้จะไม่ใช่การปรับขึ้นครั้งละมากๆ แต่สามารถลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ โดยผ่านไปทางการลดเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน อย่างไรก็ดี ด้วยบริบทการฟื้นตัวของตลาดแรงงานของไทยที่ต่างจากสหรัฐฯ ทำให้ กนง.ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละมากๆ
“ประเมินว่า กนง.พยายามรักษาสมดุล ไม่ให้การขึ้นดอกเบี้ยกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจและภาคแรงงานแข็งแกร่งมากกว่าไทย เราฟื้นช้ากว่า เพราะโรคระบาดทำความเสียหายต่อรายได้ภาคท่องเที่ยวอย่างรุนแรง อีกทั้งจีนยังคงเข้มงวดกับมาตรการควบคุมโรค โดยเราพึ่งพาท่องเที่ยวสูง และจีนเคยเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย” น.ส.รุ่ง ระบุ
น.ส.รุ่ง ระบุ
ส่วนแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป คือ ก.ย. และ พ.ย.65 นั้น คาดว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในรอบการประชุมเดือน ก.ย. ส่วนรอบการประชุมเดือน พ.ย. ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะปรับขึ้นต่อ หรือจะคงไว้ก่อน ซึ่งอาจจะได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1/66
ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี 65 จะอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25%
น.ส.รุ่ง ยังได้ประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 66 ด้วยว่า คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 1 อีก 0.25% และไตรมาส 2 อีก 0.25% แต่ทั้งนี้ ย่อมต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในขณะนั้นด้วย เช่น สถานการณ์เงินเฟ้อโลก, การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และแรงส่งไปยังการจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชน ตลอดจนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และค่าเงินบาทด้วย
“หากปลายปีนี้ต่อเนื่องต้นปีหน้า เฟดเบามือเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย และราคาน้ำมันย่อลงได้บ้าง แรงกดดันจากกระแสการขึ้นดอกเบี้ยโลกจะผ่อนคลายลง เอื้อให้ กนง.ปรับนโยบายได้ยืดหยุ่น และสอดคล้องตามของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น” น.ส.รุ่ง ระบุ
น.ส.รุ่ง ระบุ
ขณะที่ นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดว่า กนง.รอบนี้จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้กับตลาดในก่อนหน้านี้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการประชุมรอบที่เหลือของปีนี้ ทั้ง ก.ย. และ พ.ย. ก็คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องทุกครั้ง ครั้งละ 0.25%
ทั้งนี้ ประเมินว่า ณ สิ้นปี 65 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะไปแตะที่ระดับ 1.25%
“รอบนี้มติน่าจะเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% คงเป็นตามที่เคยส่งสัญญาณกับตลาดไว้ ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป…คงไม่เซอร์ไพร์สตลาดในการขึ้นแรงขนาด 0.50% คงขึ้นแค่ 0.25% แต่ขึ้นติดต่อกันทั้ง 3 ครั้ง ถ้าดูจากทิศทางเงินเฟ้อล่าสุดที่ออกมา เริ่มชะลอตัว ไม่เร่งตัวมาก จึงไม่ต้องตอบสนองด้วยการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ” นายนริศ กล่าว
นายนริศ กล่าว
โดยมองว่าการที่ กนง.จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เชื่อว่า กนง.คงไม่ได้คาดหวังที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรเทาภาวะเงินบาทอ่อนค่า เพราะถือว่าไม่ตอบโจทย์
อย่างไรก็ดี แม้ความเสี่ยงที่จะเห็นเงินเฟ้อเป็นตัวเลข 2 digit คงจะไม่เกิดขึ้นแน่ แต่อัตราเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันที่ 7%กว่าๆ ก็ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากไตรมาส 4 ไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อน่าจะเริ่มชะลอตัวลง
“ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะไปถึง 10% คงไม่เกิด แต่ยังกระทบอยู่ พอพ้นไตรมาส 3 แล้ว ไตรมาส 4 เงินเฟ้อน่าจะชะลอ เพราะฐานปีก่อนสูง ถ้าเงินเฟ้อจะพีค คงพีคในไตรมาส 3 แต่ถ้าช่วงนี้รอดไปได้ ไตรมาส 4 ก็คงจะไม่สูงไปกว่านี้แล้ว ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใหม่เข้ามา” นายนริศ กล่าว
นายนริศ กล่าว
นายนริศ เชื่อว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศจากนี้ไปจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตราบใดที่ยังเห็นทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ก็จะเห็นแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
“ตามธรรมชาติ ในการขึ้นดอกเบี้ย ถ้าสัญญาณมาแล้ว ก็ควรจะขึ้นต่อเนื่อง ไม่ใช่ขึ้นๆ หยุดๆ เพราะไม่เช่นนั้น ตลาดจะงง…สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของเรา คงเป็นขาขึ้นแน่นอนแล้ว” นายนริศ กล่าว
นายนริศ กล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า การประชุม กนง.ในครั้งนี้ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% อย่างไรก็ดี มองว่า กนง.ไม่ควรรีบขึ้นดอกเบี่ยแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งกระเตื้องขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่ได้มีผลควบคุมเงินเฟ้อมากนัก เพราะเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปทานที่ต้นทุนสูงขึ้น ไม่ใช่อุปสงค์ร้อนแรง และขณะนี้เองเงินบาทก็กลับมาแข็งค่า ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่งแล้ว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่ง ผ่านการทำงานของการคาดการณ์ของหน่วยเศรษฐกิจ ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท และต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลงบ้าง แต่จะมีผลไม่มาก เนื่องจากเงินเฟ้อเกิดจากราคาพลังงาน และราคาอาหารแพงขึ้น
ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจด้วยต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และภาระหนี้ของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยวัฏจักรธุรกิจและสภาวะของเศรษฐกิจไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขนาดเดียวกับสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมประเทศไทยพึ่งพารายได้จากภาคส่งออก และการท่องเที่ยวมากกว่า
“การที่ กนง. ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย อาจมาจากความกังวลเรื่องเงินทุนไหลออก เงินบาทอ่อนค่า และจะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติม มองความคาดหวังของ กนง.คือ การควบคุมเงินเฟ้อ แต่ผลที่ไม่พึงประสงค์ อาจจะเป็นการชะลอการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจ การชะลอการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และภาระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นของภาคครัวเรือนและเอกชน” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% ในช่วงปลายปี หาก ธปท.ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเลยในปีนี้ก็จะทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก กระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกของเงินทุนระยะสั้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะเม็ดเงินเก็งกำไรในตลาดการเงินที่เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกจากระดับปัจจุบัน และอัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มได้อีก
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/65 และโครงสร้างหนี้ในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้ของกิจการเอสเอ็มอี (SME) อยู่ในระดับสูงมาก เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจึงไม่พร้อมสำหรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ควรรอให้เห็นสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อภายในให้ชัดเจนก่อน จึงตัดสินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ มองว่า ไม่จำเป็นต้องกังวลเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนถึงจุดหนึ่งแล้ว กลไกอัตราแลกเปลี่ยนจะปรับสมดุลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลลดลงจากภาคการท่องเที่ยว
“อัตราเงินเฟ้อน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว มองว่าราคาพลังงานและน้ำมันในตลาดโลกน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 4/65 อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็เท่ากับการ Tax on economic activities ฉะนั้นถึงที่สุดแล้วเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กรณีของประเทศไทย ในระยะสั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนและราคาพลังงานสูง รวมทั้งต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสัดส่วนหนี้สินสูงเทียบ GDP การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงได้ผลในการคุมเงินเฟ้อไม่มากนัก แต่จะชะลอการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้นในไตรมาส 3/65 จึงควรชะลอขึ้นดอกเบี้ยไปปลายปี โดยมองว่าแรงกดดันราคาพลังงานลดลงจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ
สำหรับการประชุมในรอบที่เหลือในเดือน ก.ย. และ พ.ย. คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบละ 0.25% รวมแล้วปีนี้จะปรับขึ้นประมาณ 0.75% ดังนั้น หากปรับขึ้น 3 ครั้งๆ ละ 0.25% ก็จะทำให้ส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 2%
นายอนุสรณ์ ประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 66 ว่า อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปลายปีประมาณ 0.75-1.50% ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง หากเงินเฟ้อโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) สูงกว่าเป้าหมายในระดับปานกลางถึงมาก กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1% แต่หาก Core CPI อยู่ในเป้าหมายกรอบด้านบนอาจจะปรับไม่ถึง 1%
ทั้งนี้ มีดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ต้องติดตาม เช่น อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินของไทยเป็นแบบใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting Monetary Policy) จึงอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะ Core CPI ต่ำกว่าเป้าหมายมาก หรือเศรษฐกิจไทยกลับมามีภาวะถดถอยอีก
ขณะที่บล.กรุงศรี มีมุมทองที่แตกต่าง โดยคาดว่าการประชุม กนง.สัปดาห์นี้จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% จาก 0.50% เป็น 1% โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดจะลดลงเป็น 7.61% จาก 7.66% แต่ยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 65)
Tags: krungthai COMPASS, ttb analytics, กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงไทย, พชรพจน์ นันทรามาศ, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี, อนุสรณ์ ธรรมใจ