สำนักข่าวซีเอ็นบีซีนำเสนอบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า อุตสาหกรรมการบินอยู่ในภาวะระส่ำระสายมาตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงขณะนี้ก็กำลังเผชิญกับการประท้วงหยุดงานและจำนวนแรงงานขาดแคลน ซึ่งบีบบังคับให้สายการบินต่าง ๆ ต้องคิดหาแผนกลยุทธ์รับมือกับความโกลาหลของการเดินทางช่วงหน้าร้อนในปีนี้
สายการบินต่าง ๆ ในสหรัฐปลดพนักงานครั้งใหญ่ราว 90,000 ตำแหน่งในปี 2563 เนื่องจากการเดินทางด้วยเครื่องบินทั่วโลกหยุดชะงักลง อย่างไรก็ดี นับแต่นั้นมา ตัวเลขผู้โดยสารทั้งกลุ่มที่เดินทางเพื่อท่องเที่ยวและกลุ่มที่เดินทางไปทำธุรกิจก็ฟื้นตัวขึ้นจนมีจำนวนมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว และการตัดสินใจปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน
สายการบินต่าง ๆ รับมือกับปัญหานี้เป็น 2 แบบ คือ ตัดสินใจเปลี่ยนกำหนดการเดินทาง กับอีกแบบคือยึดตามกำหนดการเดิม
สายการบินที่เปลี่ยนกำหนดการเดินทางก็เช่น KLM สายการบินสัญชาติดัตช์ที่จำกัดการขายตั๋วเครื่องบินไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัมหลังจากที่สนามบินสคิปโปลจำกัดจำนวนผู้โดยสารขาออก โดยทาง KLM ระบุว่า “คาดว่าไม่จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบิน” เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสนามบิน แต่เตือนว่า “อาจมีที่นั่งให้บริการน้อยกว่าปกติในตลาดดัตช์”
ส่วนสายการบินลุฟท์ฮันซ่าของเยอรมนีปรับกำหนดการเดินทางมาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูร้อนและยกเลิกเที่ยวบินจากแฟรงก์เฟิร์ตและมิวนิกไปแล้ว 3,000 เที่ยว เพื่อ “ลดภาระระบบโดยรวมและทำให้กำหนดการเที่ยวบินมีความเสถียร” นอกจากนี้ ลุฟท์ฮันซ่ายังยกเลิกเที่ยวบินอีกกว่า 1,000 เที่ยวในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาอีกด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินผละงานประท้วง
อีกด้านหนึ่งนั้น ก็มีบางสายการบินที่ยังคงดำเนินการตามกำหนดการเดินทางเดิม เช่น สายการบินเอมิเรตส์ของดูไบที่ไม่ยอมปฏิบัติตามสนามบินฮีทโธรว์ที่ขอให้สายการบินต่าง ๆ จำกัดจำนวนผู้โดยสารในเดือนก.ค. ขณะเดียวกัน สายการบินไรอันแอร์ของไอร์แลนด์ระบุว่า “ไม่มีแผนที่จะจำกัดจำนวนผู้โดยสาร” และเปิดเผยว่า ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 115% ของจำนวนช่วงก่อนเกิดโควิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 65)
Tags: ขาดแคลนแรงงาน, สายการบิน, อุตสาหกรรมการบิน, แรงงาน